xs
xsm
sm
md
lg

ผู้ว่าฯ จันทบุรีประกาศให้ 2 อำเภอเป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติช้างป่าแล้ว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

จันทบุรี - ผู้ว่าฯ จันทบุรีประกาศให้ 2 อำเภอเป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติช้างป่าแล้ว พร้อมสั่งการให้เกษตรจังหวัด เกษตรอำเภอ และ ปภ. ลงพื้นที่ให้การช่วยเหลือในการจ่ายเงินค่าชดเชยให้แก่ชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อนจากโขลงช้างป่าที่เข้ามาทำลายพืชผลทางการเกษตร และชาวบ้านที่เสียชีวิต

นายสุรชัย ขันอาสา ผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี เปิดเผยว่า จากปัญหาโขลงช้างป่าที่ลงจากเขามาสร้างความเดือดร้อนให้แก่ชาวบ้านในพื้นที่ตำบลพวา ตำบลขุนซ่อง อำเภอแก่งหางแมว และมาทำร้ายชาวบ้านเสียชีวิตที่ตำบลบ่อเวฬุ อำเภอขลุง จังหวัดจันทบุรี ในเรื่องนี้ ทางจังหวัดจันทบุรีได้มีการประกาศให้พื้นที่ทั้ง 2 อำเภอ คือ อำเภอแก่งหางแมว และอำเภอขลุง จังหวัดจันทบุรี เป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติช้างป่าแล้ว และได้สั่งการให้เกษตรจังหวัดจันทบุรี เกษตรอำเภอ รวมถึงป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดจันทบุรี ได้ลงพื้นที่ไปสำรวจความเสียหายที่ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อนจากโขลงช้างป่าเข้ามากัดกินพืชผลทางการเกษตรของชาวบ้านที่ปลูกไว้ได้รับความเสียหาย รวมถึงทรัพย์สินอื่นๆ เช่น ท่อส่งน้ำ บ้านเรือนที่ถูกโขลงช้างป่ามาทำลายเสียหาย และผู้เสียชีวิตที่ถูกช้างป่ามาทำร้าย ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการเพื่อจ่ายเงินฉุกเฉินเข้าช่วยเหลือชาวบ้าน และครอบครัวผู้เสียชีวิตอย่างเร่งด่วน

ในเบื้องต้นหน่วยงานที่รับผิดชอบได้ลงพื้นที่เก็บข้อมูลเพื่อรายงานให้ทางจังหวัดทราบเป็นระยะ ๆ แล้ว และล่าสุด เมื่อคืนเวลา 01.35 น.ได้มีโขลงช้างป่าประมาณ 10 กว่าตัวได้ลงจากเขาสอยดาวใต้มาสร้างความเดือดร้อนให้แก่ชาวบ้านหมู่ที่ 5 หมู่ที่ 7 และหมู่ที่ 8 ตำบลจันทเขลม อำเภอเขาคิชฌกูฏ จังหวัดจันทบุรี มีพืชผลทางการเกษตรของชาวบ้านเสียหายเป็นจำนวนมาก ในเบื้องต้น นายสุเนส เฉียงเหนือ นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลจันทเขลม ได้จัดกำลังเจ้าหน้าที่ อปพร.ร่วมกับผู้นำท้องถิ่น และชาวบ้านลงพื้นที่เฝ้าดูแลโขลงช้างป่าเพื่อป้องกันไม่ให้โขลงช้างป่าเข้ามาในพื้นที่ของชาวบ้าน พร้อมทั้งจะมีการผลักดันไล่ช้างป่าให้กลับขึ้นเขาสอยดาวใต้ไป

นายสุเนส เฉียงเหนือ นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลจันทเขลม กล่าวว่า โขลงช้างป่าที่ลงมาในพื้นที่ตำบลจันทเขลม เป็นคนละโขลงกับพื้นที่ตำบลขุนซ่อง และพื้นที่ตำบลพวา อำเภอแก่งหางแมว จังหวัดจันทบุรี โดยโขลงช้างป่าที่ลงมาในพื้นที่ตำบลจันทเขลมมีด้วยกันจำนวน 18 ตัว ความเสียหายมีมากหลังจากลงพื้นที่สำรวจ มีกล้วยไข่ส่งออก สวนยางพารา ท่อส่งน้ำ และสวนขนุนของชาวบ้านได้รับความเสียหายไปกว่า 10 ไร่ ในเบื้องต้นชาวบ้านต้องใช้ประทัดในการไล่ช้างป่าเพื่อให้ออกนอกพื้นที่ของชาวบ้านไป
 
นายพิพรพงศ์ พนมผา ชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อนจากโขลงช้างป่าเข้ามากัดกินพืชผลทางการเกษตร กล่าวว่า ความเสียหายที่เกิดขึ้นมีกล้วยไข่ส่งออกประมาณ 200 ต้น ยางพารา 75 ต้น และขนุนบางส่วนที่ถูกโขลงช้างป่าลงมากัดกิน โขลงช้างป่าที่ลงมาจะเป็นช้างป่าแม่ลูกอ่อน ตนเองไม่กล้าที่จะออกมาไล่เพราะกลัวว่าช้างป่าแม่ลูกอ่อนจะทำร้ายเอาเพราะดูจากข่าวว่ามีช้างป่าทำร้ายชาวบ้านเสียชีวิตไปแล้ว 3 ราย
กำลังโหลดความคิดเห็น