xs
xsm
sm
md
lg

ชาวบ้านจันทบุรี ยังคงเผชิญกับปัญหาโขลงช้างที่เข้ามากัดกินเหยียบย่ำพืชผล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


จันทบุรี - ชาวบ้าน 3 ตำบล 2 อำเภอ จังหวัดจันทบุรี ยังคงเผชิญกับปัญหาโขลงช้างที่เข้ามากัดกินเหยียบย่ำพืชผลทางการเกษตรเสียหายอย่างต่อเนื่องทุกวัน ขณะที่พืชผลทางการเกษตรของชาวบ้านเสียหายไปแล้วกว่า 500 ไร่

เช้าวันนี้ (9 ก.พ.) ผู้สื่อข่าวได้ลงพื้นที่ไปติดตามความคืบหน้าเกี่ยวกับปัญหาโขลงช้างป่าที่ลงจากเขาซับไน เขาแหลม และเขาสอยดาวใต้ ใน 3 ตำบล คือ ตำบลขุนซ่อง ตำบลพวา และตำบลจันทเขลม ใน 2 อำเภอ คือ อำเภอแก่งหางแมว และอำเภอเขาคิชฌกูฏ จังหวัดจันทบุรี พบว่า โขลงช้างป่าได้มีการแตกโขลงออกมาหลายโขลง และกระจายลงมาในพื้นที่ของชาวบ้านใน 3 ตำบลอย่างต่อเนื่อง

ล่าสุด โขลงช้างป่าได้เปลี่ยนทิศทางหากินเข้ามาในพื้นที่ ตำบลจันเขลม อำเภอเขาคิชฌกูฏ จังหวัดจันทบุรีมากขึ้น และได้เข้ามาในสวนผลไม้ของ นายสุคน เครือวรรณ อายุ 49 ปี อยู่บ้านเลขที่ 77/9 หมู่ที่ 5 ตำบลจันทเขลม และส่งผลให้สวนผลไม้ถูกโขลงช้างป่าเข้ามากัดกินพืชผลทางการเกษตรของชาวบ้านที่ปลูกไว้ เช่น สวนขนุน สวนกล้วยไข่ สวนยางพารา และสวนมะพร้าวเสียหายเป็นจำนวนมาก และขยายพื้นที่ความเสียหายเป็นวงกว้างไปสู่ชาวบ้านหมู่ที่ 8 ที่ถูกโขลงช้างป่าเข้ามากัดกินสวนผลไม้ได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก ชาวบ้านในพื้นที่ต้องนอนขวัญผวาแทบทุกคืน และกลัวกับโขลงช้างป่าเป็นอย่างมาก

ในเบื้องต้น นายสุรชัย ขันอาสา ผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี ได้รับรายงานแล้ว จึงได้สั่งการให้นายศิริศักดิ์ ศิริมังคะลา นายอำเภอเขาคิชฌกูฏ ได้จัดส่งเจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการไล่ช้างป่าเข้าไปในพื้นที่เพื่อช่วยในการผลักดันไล่โขลงช้างป่ากลับขึ้นเขาไป และเพื่อป้องกันไม่ให้โขลงช้างป่าเข้ามาในพื้นที่สวนผลไม้ของชาวบ้านอีก ส่วนพื้นที่ตำบลขุนซ่อง และตำบลพวา อำเภอแก่งหางแมว จังหวัดจันทบุรี ยังพบว่า โขลงช้างป่ายังคงวนเวียนหากินอยู่ในพื้นที่ของชาวบ้าน โดยยังไม่มีทีท่าว่าจะการกลับขึ้นเขาแต่อย่างใด แม้ชุดปฏิบัติการไล่ช้างป่าที่ 2 ตำบล ได้มีการดำเนินการกดดัน และผลักดันขับไล่ช้างป่าอย่างหนัก พบว่าโขลงช้างป่าไม่ได้กลัวเจ้าหน้าที่ หรือไฟสปอตไลต์ไล่ช้างป่าแต่อย่างใด

ทั้งนี้ พบว่าโขลงช้างป่ากลับจะเข้ามาทำร้ายเจ้าหน้าที่ด้วยซ้ำเพราะเนื่องจากโขลงช้างป่ามีความหิวโหย หากไม่ได้กินอาหารอิ่มก็จะทำให้โขลงช้างป่าเครียด และเกิดความโมโหทำร้ายได้ รวมทั้งการที่โขลงช้างป่าไม่กลับขึ้นเขาก็เพราะว่าบนเขาแหล่งน้ำ และแหล่งอาหารไม่มี

อย่างไรก็ตาม หลังชุดปฏิบัติการไล่ช้างป่าได้ลงปฏิบัติหน้าที่ในวันนี้เป็นวันที่ 2 พบว่าพื้นที่สวนผลไม้ของชาวบ้านในตำบลพวา และตำบลขุนซ่อง เกิดความเสียหายลดน้อยลงกว่าในช่วง 4-5 วันที่ผ่านมา ทั้งนี้ ความเสียหายที่เกิดจากโขลงช้างป่าทำลายมีมากกว่า 500 ไร่แล้ว ทางจังหวัดอาจจะมีการประกาศให้พื้นที่ 3ตำบล 2 อำเภอ และ 6 หมู่บ้านจังหวัดจันทบุรี เป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติจากโขลงช้างป่าเพื่อให้ชาวบ้านได้รับเงินค่าชดเชยจากการถูกโขลงช้างป่าทำลายพืชผลทางการเกษตร และทรัพย์สินต่อไป

นายสุคน เครือวรรณ ชาวบ้านหมู่ที่ 5 ตำบลจันทเขลม ที่ได้รับความเดือดร้อนจากโขลงช้างป่า กล่าวว่า โขลงช้างป่าได้ลงมาในพื้นที่สวนผลไม้ของชาวบ้านแทบทุกคืน พืชผลที่ปลูกไว้ และใกล้จะเก็บเกี่ยวขายได้ในปีนี้ถูกช้างป่ากัดกินเสียหายหมด ตนเองอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาช่วยเหลือต่อไปอีกด้วย

กำลังโหลดความคิดเห็น