ประจวบคีรีขันธ์ - อำเภอหัวหิน มีธุรกิจท่องเที่ยวเกี่ยวกับช้างอยู่ถึง 5 แห่ง และเคยเกิดเหตุช้างตกมันอาละวาดทำร้ายควาญช้างจนเสียชีวิต เมื่อปลายปี 55 ทำให้ปศุสัตว์ฯ ประจวบคีรีขันธ์ ต้องจัดอบรมหลักสูตรการป้องกัน ควบคุมดูแลช้างตกมันอาละวาด เพื่อวางมาตรการการดูแลความปลอดภัยให้คน และช้างอย่างชัดเจน
วันนี้ (11 ก.พ.) นายสัตวแพทย์เศรษฐเกียรติ กระจ่างวงษ์ ปศุสัตว์จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ได้เปิดการอบรมหลักสูตรการป้องกัน ควบคุมดูแลช้างตกมันอาละวาด ที่ห้องประชุมมูลนิธิศูนย์รักษ์สุนัขหัวหิน ในพระราชานุเคราะห์ อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เพื่อให้ความรู้ ความเข้าใจ และสร้างความเข้าใจระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้สามารถปฏิบัติงาน และประสานกันได้ด้วยดีในกรณีที่มีช้างตกมันอาละวาดแก่ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ทั้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ ตำรวจ เจ้าหน้าที่กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธ์พืช เจ้าหน้าที่เทศบาลเมืองหัวหิน ททท.ประจวบคีรีขันธ์ ผู้ประกอบการสถานประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวรูปแบบมีช้างให้บริการนักท่องเที่ยว และควาญช้างในพื้นที่อำเภอหัวหินกว่า 30 คน
ปศุสัตว์จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ กล่าวว่า ปัจจุบันการเลี้ยงช้างเพื่อประกอบธุรกิจการท่องเที่ยวมีหลายรูปแบบ เป็นที่นิยมแก่นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทย และชาวต่างประเทศ สำหรับจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โดยเฉพาะอำเภอหัวหิน มีสถานประกอบการธุรกิจการท่องเที่ยวรูปแบบมีช้างบริการนักท่องเที่ยวประเภทปางช้าง และประเภทสถานเลี้ยงช้างเอกชน ทั้งสิ้น 5 แห่ง แต่ทั้งหมดยังไม่มีมาตรการ หรือแนวทางปฏิบัติที่จะจัดการป้องกัน ควบคุม ดูแลกรณีช้างตกมัน ช้างอาละวาด จนกระทั่งเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2555 ได้เกิดเหตุการณ์ช้างพลายตกมันอาละวาดทำร้ายควาญช้างจนเสียชีวิต ทำลายข้าวของเสียหาย กว่าเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ และผู้เกี่ยวข้องจะสามารถร่วมปฏิบัติการยิงยาสลบ และควบคุมช้างพลายตกมันเชือกนี้เป็นผลสำเร็จก็ใช้เวลานานหลายชั่วโมง
“จากปัญหา และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ต้องเร่งวางมาตรการการป้องกัน และการควบคุมดูแลความปลอดภัยของคน และช้างให้ชัดเจน และรัดกุมมากขึ้น เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ความสูญเสีย และกระทบต่อภาพลักษณ์ของการท่องเที่ยว”
ปศุสัตว์จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ กล่าวอีกว่า ในการนำช้างมาประกอบธุรกิจท่องเที่ยวในรูปแบบต่างๆ จะต้องมีการเตรียมพร้อมทั้งด้านบุคลากร วัสดุ-อุปกรณ์ และที่สำคัญคือ มีการอบรมให้ความรู้แก่ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ช้างตกมันอาละวาด ทำร้ายนักท่องเที่ยว ประชาชน ควาญช้าง และทรัพย์สินต่างๆ ซึ่งในการอบรมครั้งนี้จะมีการอบรมในภาคทฤษฎี เช่น การสังเกตพฤติกรรมของช้าง สาเหตุการอาละวาดของช้าง ขั้นตอนปฏิบัติเพื่อป้องกันช้างอาละวาด ขั้นตอนการปฏิบัติเมื่อเกิดเหตุช้างอาละวาด และภาคปฏิบัติ เช่น อุปกรณ์สำหรับควบคุมช้างอาละวาด ขั้นตอนและวิธีการใช้อุปกรณ์ยิงยาสลบ ยาและขนาดยาสำหรับการควบคุมช้างอาละวาด เป็นต้น อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าหากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องสามารถปฏิบัติได้ตามหลักสูตร ก็ถือว่าเป็นมาตรการสำคัญที่จะไม่ทำให้เกิดเหตุการณ์ช้างตกมันอาละอาดขึ้นอีก
ด้านนายประกอบ ชำนาญกิจ เจ้าของหมู่บ้างช้าง หัวหิน กล่าวว่า การอบรมครั้งนี้ถือเป็นสิ่งสำคัญ เนื่องจากหัวหินเมืองท่องเที่ยว สิ่งสำคัญความรู้ที่ได้จากการอบรมสามารถนำไปใช้ดูแลแก้ปัญหาในปางช้างต่างๆ ได้อย่างดี ซึ่งที่ผ่านมา บางครั้งเมื่อเกิดเหตุช้างตกมันทำร้ายควาญช้างจนเสียชีวิต ซึ่งเป็นสิ่งที่เจ้าของปางช้างไม่อยากให้เกิดขึ้น โดยเฉพาะต้องควบคุมดู แลและเอาใจใส่ช้างเป็นสิ่งสำคัญ เพราะหากเกิดกับนักท่องเที่ยว สิ่งที่จะตามมาก็ย่อมต้องส่งผลกระทบต่อการต่อเที่ยวอย่างแน่นอน