ลำปาง - เครือข่ายสิทธิผู้ป่วยแม่เมาะ นำสื่อไต่ขึ้นเขาพิสูจน์ภาพวาดโบราณ “ดอยผาตูบ” พื้นที่ประทานบัตรเหมืองแร่ลิกไนต์ พร้อมเรียกร้องกรมศิลป์เข้าตรวจสอบก่อนถูกระเบิดทิ้งทำเหมืองแร่แทน
วันนี้ (9 ก.พ.) นางมะลิวรรณ นาควิโรจน์ เลาธิการกลุ่มเครือข่ายสิทธิผู้ป่วยแม่เมาะ อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง ได้นำสื่อมวลชนเดินเท้าไต่ขึ้นสันเขาที่สูงชันกว่า 400 เมตร ที่ชาวบ้านเรียกว่า “ดอยผาตูบ” อยู่ในพื้นที่บ้านแม่จาง ม.2 ต.นาสัก อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง ซึ่งระหว่างทางทุกคนต้องใช้ความระมัดระวัง เนื่องจากสันเขามีใบไม้ และก้อนหินจำนวนมาก ประกอบทางขึ้นชันจึงต้องใช้ไม้ยันขึ้นเพื่อช่วยประคองตัว
เมื่อขึ้นไปถึงบริเวณหน้าผาพบว่า มีภาพวาดซึ่งเป็นสีแดงติดอยู่บนผนังหน้าผา โดยภาพที่มีความสมบูรณ์คือ ภาพวัว และนกชนิดหนึ่ง ส่วนที่เหลือมีลักษณะคล้ายเครื่องใช้ในครัว แต่ค่อนข้างจะเลือนรางไปบ้าง ส่วนสีที่ใช้วาดคาดว่าน่าจะเป็นการนำดินผสมเปลือกไม้ หรือผสมแร่ชนิดหนึ่งที่มีแดงชาดแล้วนำมาวาดไว้ นอกจากนี้ บริเวณโดยรอบ ยังมีหินงอกหินย้อยกระจัดกระจายอย่างสวยงามอีกด้วย
และเมื่อเดินลัดเลาะไปตามสันเขาถัดออกไปมีถ้ำอยู่ด้วย ซึ่งภายในถ้ำแห่งนี้ยังมีเศษของเครื่องเคลือบดินเผาสมัยโบราณที่แตกเสียหายหลงเหลืออยู่อีกจำนวนหนึ่ง หลังจากทางเครือข่ายฯ ได้นำภาชนะเครื่องเคลือบดินเผาส่งให้ทางผู้เชี่ยวชาญตรวจสอบพิสูจน์อายุ และความเป็นมาแล้ว แต่ยังอยู่ระหว่างการตรวจสอบ
กรรมการเครือข่ายสิทธิผู้ป่วยแม่เมาะ ได้เล่าว่า ถ้ำาแห่งนี้เคยมีคนขึ้นไปพบว่า มีรูปภาพโบราณ และภาชานะโบราณเมื่อปี 2553 แต่ก็ไม่มีการนำมาต่อยอด จนกระทั่งสัปดาห์ที่ผ่านมา นายพราน ซึ่งเป็นคนในหมู่บ้านเข้าไปส่องสัตว์ และไปพบภาพวาดที่บริเวณผนังหน้าผาดังกล่าว เมื่อเดินสำรวจต่อไปจึงพบว่ามีถ้ำ และภายในถ้ำมีเครื่องใช้ที่เป็นภาชนะเครื่องเคลือบดินเผาโบราณ จึงได้นำเรื่องไปบอกกับพระอาจารย์สาธิต ธีรปัญโญ ผู้อำนวยการธรรมสถานสถาบันธรรมภิวัตรบ้านสบเติ่น อำเภอแม่เมาะ จากนั้นจึงได้นำเรื่องดังกล่าวมาบอกเล่าให้ชาวบ้านทราบ และได้ขึ้นไปนำภาชนะโบราณเหล่านั้นลงมา และขณะนี้ได้นำส่งให้ผู้เชี่ยวชาญด้านโบราณคดีตรวจสอบถึงที่มาของโบราณวัตถุดังกล่าวแล้ว
นางมะลิวรรณ ได้กล่าวว่า ขณะนี้ ทางกลุ่มต้องการให้ทางหน่วยงานตรวจสอบใน 4 เรื่อง คือ 1.ให้ทางกรมศิลปากรที่ 7 เข้ามาตรวจสอบถึงที่มาและอายุของโบราณวัตถุ และภาพวาดโบราณที่ปรากฏบนผนังถ้ำดังกล่าว 2.ให้พิสูจน์ว่าดอยผาตูบ อยู่ในพื้นที่ประทานบัตรเหมืองแร่ของ กฟผ.หรือไม่ 3.หากพื้นที่ดังกล่าวอยู่ในเขตประทานบัตรเหมืองแร่จริง จะต้องยกเลิกเพิกถอนการให้ประทานบัตรนั้นๆ โดยเร็ว ก่อนที่จะมีการระเบิดภูเขาดังกล่าว และ 4.หากไม่อยู่ในพื้นที่เขตประทานบัตรก็ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาดูแล และอนุรักษ์ต่อไป