xs
xsm
sm
md
lg

“นายจ้างโคราช” เมินนำต่างด้าวขึ้นทะเบียนพิสูจน์สัญชาติกว่าครึ่งหมื่น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

น.ส.อัญชลี สินธุพันธ์ จัดหาจังหวัดนครราชสีมา
ศูนย์ข่าวนครราชสีมา - นายจ้างโคราชเมินนำแรงงานต่างด้าวขึ้นทะเบียนพิสูจน์สัญชาติกว่าครึ่งหมื่น หลังรัฐขยายเวลาเพิ่มอีก 120 วัน ด้านแรงงานจังหวัดฯ รุกทำความเข้าใจนายจ้าง ขู่หากไม่นำแรงงานต่างด้าวพม่า ลาว และเขมร มาขึ้นทะเบียนให้ถูกต้องมีความผิดตาม กม. และแรงงานจะถูกผลักดันกลับประเทศต้นทาง

วันนี้ (7 ก.พ.) น.ส.อัญชลี สินธุพันธ์ จัดหางานจังหวัดนครราชสีมา เปิดเผยว่า ล่าสุดคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติให้ผ่อนผันแรงงานต่างด้าวสัญญาติพม่า ลาว และกัมพูชา ที่ลักลอบเข้ามาทำงานอยู่กับนายจ้างในประเทศไทย รวมถึงบุตรแรงงานต่างด้าวที่อายุไม่เกิน 15 ปี อาศัยอยู่ในราชอาณาจักรไทยเป็นกรณีพิเศษ เป็นเวลา 120 วัน จากเดิมที่ครบกำหนดเมื่อวันที่ 14 ธ.ค. 55 เพื่อดำเนินการให้ได้รับหนังสือเดินทางชั่วคราว (Temporary Passport) หรือเอกสารรับรองบุคคล (Certificate of Identity) จากประเทศต้นทาง และได้รับอนุญาตให้เป็นผู้เดินทางเข้าประเทศอย่างถูกต้องตามกฎหมาย พร้อมกับได้รับอนุญาตทำงานกับนายจ้างเดิมต่อไป โดยมีระยะเวลาตั้งแต่วันที่ 5 ธ.ค. 55 สิ้นสุดในวันที่ 13 เม.ย. 56 หากนายจ้างไม่ดำเนินการจะถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย ส่วนแรงงานต่างด้าวจะถูกผลักดันกลับประเทศต้นทาง

สำหรับ จ.นครราชสีมามีแรงงานต่างด้าวทั้ง 3 สัญชาติขึ้นทะเบียนไว้ตั้งแต่ปี 2554 รวมทั้งสิ้น 7,700 คน ขณะนี้เข้ามาพิสูจน์สัญชาติเพียง 2,200 คนเท่านั้น คงเหลือแรงงานต่างด้าวที่ยังไม่ดำเนินการพิสูจน์สัญชาติอีก 5,500 คน ซึ่งตัวเลขดังกล่าวไม่รวมแรงงานต่างด้าวที่หลบหนีเข้าเมืองและยังไม่ได้ขึ้นทะเบียนไว้

ทั้งนี้ แรงงานต่างด้าวที่ขึ้นทะเบียนพิสูจน์สัญชาติแล้วจะได้รับสิทธิประโยชน์เช่นเดียวกับแรงงานทั่วไป เช่น สิทธิในการรักษาพยาบาล ได้ค่าจ้างเงินเดือนตามที่กฎหมายกำหนด การประกันสุขภาพตามกฎหมาย การเดินทางสะดวก ไม่ต้องหลบซ่อนเจ้าหน้าที่

“วันนี้ทางสำนักงานฯ ได้เรียกประชุมผู้ประกอบการในจังหวัดกว่า 200 ราย เพื่อทำความเข้าใจและเร่งนำแรงงานต่างด้าวที่อยู่ในความดูแลมาขึ้นทะเบียนและพิสูจน์สัญชาติให้ถูกต้องตามกฎหมาย ตามระยะเวลาที่ภาครัฐผ่อนผันให้ และหากไม่ดำเนินการถือว่าผู้ประกอบการมีความผิดตามกฎหมาย และแรงงานต่างด้าวจะต้องถูกผลักดันกลับประเทศต่อไป” น.ส.อัญชลีกล่าว

น.ส.อัญชลีกล่าวอีกว่า ตัวเลขผู้ว่างงานใน จ.นครราชสีมาล่าสุดเป็นปกติยังไม่เห็นผลกระทบจากการปรับค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาททั่วประเทศตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.ที่ผ่านมา ขณะเดียวกัน จ.นครราชสีมายังขาดแคลนแรงงานอีกจำนวนมาก โดยเฉพาะแรงงานในภาคอุตสาหกรรมระดับล่าง วุฒิการศึกษา ปวช., ปวส. อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมีผู้ถูกเลิกจ้างมาขึ้นทะเบียนประกันการว่างงานเพื่อขอสิทธิประโยชน์ด้านประกันสังคมเฉลี่ยประมาณเดือนละ 1,000 ราย


กำลังโหลดความคิดเห็น