xs
xsm
sm
md
lg

ชาวสะเอียบจี้ผู้ว่าฯ-นายกฯ-24 ทุนข้ามชาติหยุดผลาญป่า สร้างเขื่อน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


แพร่ - เครือข่ายต่อต้านโครงการก่อสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น-เขื่อนแม่วงก์ บุกศาลากลางแพร่ ยื่นหนังสือถึงผู้ว่าฯ นายกฯ พร้อม 24 บริษัทข้ามชาติ หยุดผลาญป่าสร้างเขื่อน ย้ำ 8 เหตุผล

วันนี้ (1 ก.พ. 56) ตัวแทนชาวบ้านชุมชน ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ ที่คัดค้านการก่อสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นมาอย่างยาวนาน ได้ทางไปที่ศาลากลางจังหวัดแพร่ เข้ายื่นหนังสือที่ลงนามโดยนายสมมิ่ง เหมืองร้อง ประธานคณะกรรมการคัดค้านเขื่อน 4 หมู่บ้าน (บ้านดอนชัยสักทอง),นายวิชัย รักษาพล-นายเจริญบัวแดง-นายสิทธิพร ดอกคำ ประธานคณะกรรมการคัดค้านเขื่อน บ้านดอนชัย บ้านดอนแก้ว บ้านแม่เต้น ต่อผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่, นายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร และ 24 บริษัทข้ามชาติที่สนใจเข้ามาประมูลงานตามแผนการจัดการน้ำของรัฐบาล มูลค่า 3.5 แสนล้านบาท เรียกร้องให้ยุติแผนการทำลายป่าโดยการสร้างเขื่อน เช่น เขื่อนแก่งเสือเต้น เขื่อนยมบน เขื่อนยมล่าง (เขื่อนแม่น้ำยม) และเขื่อนแม่วงก์

ในหนังสือดังกล่าวระบุว่า กรณีที่รัฐบาลได้เร่ขายแผนการจัดการน้ำ 3.5 แสนล้าน ให้กับ 24 บริษัทข้ามชาติ ซึ่งในแผนการจัดการน้ำดังกล่าวได้หมกเม็ดการทำลายป่าไว้ในนั้น เช่น แผนการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น จ.แพร่ จะทำลายป่า 41,750 ไร่ แผนการสร้างเขื่อนยมบน และเขื่อนยมล่าง (เขื่อนแม่น้ำยม) จ.แพร่ ซึ่งก็คือ เขื่อนแก่งเสือเต้นแยกออกเป็น 2 เขื่อน ก็จะทำลายป่าไม่น้อยไปกว่าเขื่อนแก่งเสือเต้น และแผนการสร้างเขื่อนแม่วงก์ จ.นครสวรรค์ ก็จะทำลายป่า 13,000 ไร่ อันจะนำไปสู่ปัญหาอุทกภัย และภัยพิบัติ ตามมาอย่างรุนแรงขึ้น

คณะกรรมการคัดค้านเขื่อน 4 หมู่บ้าน ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ จึงขอเรียกร้องให้ รัฐบาล และ 24 บริษัทข้ามชาติ ได้ตระหนักถึงปัญหาการทำลายป่าและปัญหาโลกร้อนที่จะเกิดขึ้น โดยกลุ่มราษฎรรักป่าขอเสนอให้รัฐบาล และ 24 บริษัทข้ามชาติ ได้ยุติแผนการทำลายป่า ยกเลิกแผนการสร้างเขื่อน เช่น เขื่อนแก่งเสือเต้น จ.แพร่ เขื่อนยมบน และเขื่อนยมล่าง (เขื่อนแม่น้ำยม) จ.แพร่ และเขื่อนแม่วงก์ จ.นครสวรรค์ เป็นต้น

ทั้งนี้ หากยังผลักดันการทำลายป่าต่อไป รัฐบาลก็จะถูกตราหน้าว่าเป็น รัฐบาลนรกสำหรับสิ่งแวดล้อม และ 24 บริษัทข้ามชาติก็ต้องถูกตราหน้าว่าเป็นบริษัททำลายป่า ธุรกิจของบริษัทของท่านก็จะถูกประณามและถูกตราหน้าว่าเป็นบริษัทนรกสำหรับสิ่งแวดล้อมเช่นกัน

คณะกรรมการคัดค้านเขื่อน 4 หมู่บ้าน ยังได้เน้นย้ำเหตุผลที่ไม่สมควรสร้างเขื่อน และขอเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง โดยไม่ต้องสร้างเขื่อน อีกครั้งว่า

1. ผลการศึกษาขององค์การอาหารและการเกษตรโลก (FAO) ด้วยเหตุผลเรื่องการป้องกันน้ำท่วม เขื่อนแก่งเสือเต้น สามารถเยียวยาปัญหาน้ำท่วมได้เพียง 8 เปอร์เซ็นต์

2. ผลการศึกษาของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ด้วยเหตุผลทาง เศรษฐศาสตร์ ได้ข้อสรุปว่า เขื่อนแก่งเสือเต้นไม่คุ้มทุน

3. ผลการศึกษาของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ด้วยเหตุผลทางนิเวศวิทยา ที่มีข้อสรุปว่าหากสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นจะกระทบต่อระบบนิเวศของอุทยานแห่งชาติแม่ยมเป็นอย่างมาก หากเก็บผืนป่าที่จะถูกน้ำท่วมไว้จะมีมูลค่าต่อระบบนิเวศ และชุมชนอย่างมาก

4. การศึกษาของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ด้วยเหตุผลทางด้านป่าไม้ สัตว์ป่า ที่มีข้อสรุปว่าพื้นที่ที่จะสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น เป็นทั้งอุทยานแห่งชาติที่มีความอุดมสมบูรณ์ อีกทั้งยังเป็นแหล่งป่าสักทองธรรมชาติ ผืนเดียวที่เหลืออยู่ ดังนั้น ควรเก็บรักษาไว้ เพื่ออนาคตของประชาชนไทยทั้งประเทศ

5. ผลการศึกษาของมูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่า และพรรณพืชแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ ด้วยเหตุผลในการจัดการน้ำ ยังมีทางออก และทางเลือกอื่นๆ อีกหลายวิธีการ ที่แก้ไขปัญหาน้ำท่วมได้ โดยไม่ต้องสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น

6. ผลการศึกษาของมหาวิทยาลัยนเรศวร ได้เสนอ 19 แผนงานการจัดการน้ำแบบบูรณาการ ซึ่งสามารถแก้ไขปัญหาทั้งน้ำแล้ง น้ำท่วม ได้อย่างเป็นระบบทั้งลุ่มน้ำยม โดยไม่ต้องสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น

7. ผลการศึกษาของกรมทรัพยากรธรณี ได้ชี้ชัดว่า บริเวณที่จะสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น ตั้งอยู่แนวรอยเลื่อนของเปลือกโลก คือ รอยเลื่อนแพร่ ซึ่งยังมีการเคลื่อนตัวอยู่ตลอดเวลา ซึ่งเป็นการเสี่ยงอย่างมากที่จะสร้างเขื่อนใกล้กับรอยเลื่อนของเปลือกโลก เสมือนหนึ่งเป็นการวางระเบิดบนหลังคาบ้านของคนเมืองแพร่

8. ผลการศึกษาของโครงการพัฒนายุทธศาสตร์ทางเลือกนโยบายการจัดการลุ่มน้ำยม (SEA) ชี้ให้เห็นว่ามีทางเลือกมากมายในการจัดการน้ำในลุ่มน้ำยม โดยไม่ต้องสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น เช่น การทำทางเบี่ยงน้ำเลี่ยงเมือง การทำแก้มลิง การพัฒนาอ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก เป็นต้น


กำลังโหลดความคิดเห็น