ฉะเชิงเทรา - พิษเศรษฐกิจแถบยุโรปเริ่มลามถึงไทย หลังคนงานโรงงานผลิตเฟอร์นิเจอร์ส่งออก อดีต ส.ส.กรุงเทพฯ หลายสมัย ในยุคกลุ่มพรรคเทพเรืองบารมี แห่ร้องขอค่าจ้างที่ติดค้าง และขอผัดผ่อนจนเรื้อรังมานานแรมปี ขณะคนงานเผยไม่มีข้าวสารจะกรอกหม้อเลี้ยงปากท้อง ด้านสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดเต้น เตรียมรับเป็นตัวกลางเข้าประสานเจรจาหาข้อยุติ
วันนี้ (19 ธ.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ห้องรับรองชั้น 1 อาคารศาลากลางจังหวัดฉะเชิงเทรา ได้มีกลุ่มคนงานจากบริษัท เคหะอุปกรณ์ อุตสาหกรรมจำกัด ตั้งอยู่เลขที่ 98 ม.2 ต.ลาดกระทิง อ.สนามชัยเขต จ.ฉะเชิงเทรา ผู้ผลิตเฟอร์นิเจอร์ส่งออก กว่า 60 คน ได้เดินทางเข้ามาเรียกร้องถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ช่วยยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือเจรจา หรือหาทางทำให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างแก่คนงานทั้งหมด หลังจากถูกทางเจ้าของบริษัทผัดผ่อนการจ่ายมาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานานมาเกือบ 1 ปี เต็มแล้ว
นายจำลอง เปี่ยมแจง คนงานที่ร่วมเดินทางมากล่าวว่า ในวันนี้กลุ่มคนงานของบริษัทผลิตเฟอร์นิเจอร์ที่ยังคงเหลือทำงานอยู่ในโรงงานในขณะนี้ประมาณ 80 คนได้เดินทางมาเรียกร้องให้ทางฝ่ายนายจ้าง คือ นายเสรี พัฒนพันธ์ชัย อายุ 79 ปี อยู่บ้านเลขที่ ก.46 ม.14 ถ.สุขาภิบาล 2 บางชัน มีนบุรี อดีต ส.ส.กทม. หลายสมัย จ่ายค่าจ้างค้างเก่าที่ถูกทางฝ่ายนายจ้างนั้นผัดผ่อนขอเลื่อนการจ่ายค่าจ้าง หรือจ่ายไม่ตรงกับงวดของการจ่ายมาโดยตลอดกว่า 1 ปีเต็มที่ผ่านมา จนทำให้คนงานทั้งหมดไม่มีเงินกินใช้ และจ่ายค่าภาระการครองชีพต่างๆ ประจำวัน
ที่ผ่านมา ทางฝ่ายนายจ้างได้เริ่มขอผัดผ่อนการจ่ายค่าจ้างของคนงานมาตั้งแต่เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา โดยอ้างว่า ทางบริษัทนั้นประสบปัญหาด้านสภาพคล่อง เนื่องจากสินค้าที่ทางบริษัทผลิต จำพวกตู้ โต๊ะ เตียงนอน ชั้นวางทีวี และเฟอร์นิเจอร์ตกแต่งบ้านต่างๆ นั้น ส่งออกไปขายยังในกลุ่มประเทศทางแถบยุโรป ได้รับผลกระทบจากปัญหาวิกฤตทางเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศดังกล่าวที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้ จนคนงานที่เดิมเคยมีจำนวนมากถึงกว่า 500 คนได้พากันออกไปทำงานที่อื่นกันหมด จนเหลืออยู่ในขณะนี้เพียงจำนวนประมาณ 80 คน เนื่องจากไม่ได้ค่าจ้างตรงตามเวลา หรืองวดการจ่ายที่ปกติเคยจ่ายในทุก 15 วัน
โดยคนงานที่พากันออกไปหางานที่อื่นทำนั้นเขาเป็นคนต่างพื้นที่ แต่พวกตนเป็นคนในพื้นที่จึงไปไหนไม่ได้ เพราะไม่อยากทิ้งบ้านเกิด หรือต้องเดินทางไปทำงานไกลยังต่างพื้นที่ ถึงได้รับค่าจ้างไม่ตรงตามงวดบ้างแต่ก็ยังพออยู่ได้เพราะอาศัยอยู่กับบ้านตนเอง แต่มาในระยะหลัง การผัดผ่อนเริ่มนานขึ้นจนถึงขั้นไม่จ่ายค่าแรงข้ามงวดการจ่ายหลายเดือน และขอผัดผ่อนเลื่อนการจ่ายไปเรื่อยๆ จนพนักงานไม่มีเงินจะซื้อข้าวกิน คนงานทั้งหมดจึงได้เดินทางมาเรียกร้องขอความช่วยเหลือจากทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกันในวันนี้
นายทิวา เข็มเฉลิม คนงานอีกรายที่กำลังเดือดร้อนจากปัญหาดังกล่าว กล่าวว่า ที่ผ่านมา ก็เห็นใจนายจ้างคนงานที่ยังเหลือทั้งหมดจึงยังคงทำงานอยู่กับบริษัทนี้ต่อ เรื่อยมา หลังพบว่า บริษัทเริ่มมีปัญหามาตั้งแต่เมื่อช่วงปลายปี 54 และเริ่มจ่ายค่าจ้างไม่ตรงตามกำหนดในช่วงต้นปี 55 แต่ก็เพราะด้วยความสะดวกที่อยู่ใกล้บ้านจึงยอมนายจ้างทุกอย่าง หลังจากได้ถูกขอผัดผ่อนการจ่ายค่าจ้างมาโดยตลอด 1 ปีที่ผ่านมา จนในระยะหลังนายจ้างจึงเริ่มขอผ่อนชำระค่าจ้างให้ แต่แล้วก็หายเงียบไปอีก ไม่มีความแน่นอน หรือชัดเจน หรือข้อสรุปใดๆ ในการจ่ายค่าจ้างที่ติดค้างไว้ ว่าจะให้จบลงอย่างไร เพราะคนงานก็มีภาระค่าใช้จ่าย ค่าเดินทาง ค่าเติมน้ำมันรถ ค่ากินรายวัน
และกล่าวอีกว่า สำหรับเจ้าของโรงงานแห่งนี้นั้น ทราบว่าได้เคยเป็นอดีตที่ปรึกษา รมช.มหาดไทย เมื่อปี พ.ศ.2535 ที่ปรึกษาผู้ว่า กทม. ในปี พ.ศ.2529 และเป็นอดีต ส.ส.หลายสมัย ในปี 2529 2531 และครั้งสุดท้ายเมื่อปี พ.ศ.2538 สังกัดพรรคพลังธรรม ก่อนพรรคล่มสลายลงในยุคของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นหัวหน้าพรรค และนางสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ เป็นแกนนำพรรคในรัฐบาล พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ เป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อครั้งมีการลอยตัวค่าเงินบาท
ด้าน น.ส.จันทรา ทิดพรม อายุ 39 ปี อยู่บ้านเลขที่ 355 ม.4 ต.คู้ยายหมี อ.สนามชัยเขต คนงานอีกรายกล่าวว่า ความยากลำบากของคนงานหาเช้ากินค่ำที่กำลังเกิดขึ้นอยู่นี้ ไม่รู้ว่ารัฐบาลชุดนี้เขาช่วยเรา หรือเขาจะฆ่าพวกเรา ที่ได้ประกาศขึ้นเงินค่าแรงงานคนงานเป็นวันละ 300 บาท เพราะหลังมีนโยบายนี้ออกมาข้าวของเครื่องใช้ได้พากันขึ้นราคาไปรอดักหน้าหมดทุกอย่างแล้ว ทั้งที่ค่าจ้างแรงงานของคนงานใน จ.ฉะเชิงเทรา นี้ ยังไม่ได้ขึ้นเลยสักบาท ปัจจุบันพวกตนยังคงได้รับค่าแรงขั้นต่ำอยู่ที่เพียงวันละ 269 บาท ทำงานมานาน 11 ปี ค่าแรงก็ยังคงเท่ากับคนงานที่เพิ่งเข้ามาใหม่ แถมยังจะถูกเบี้ยวไม่จ่ายค่าจ้างอีก
นายจรัส ครจาตรี นิติกรชำนาญการ สนง.สวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จ.ฉะเชิงเทรา กล่าวว่า หลังทางหน่วยงานได้รับเรื่องร้องเรียนจากคนงาน ในวันพรุ่งนี้ เวลา 09.30 น. ทางสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ได้นัดให้ทางคนงาน และนายจ้างไปพร้อมกันยังที่ตั้งสถานประกอบการ เพื่อเจรจาให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างทุกคน หากทางโรงงานไม่จ่าย ทางสำนักงานฯ จะออกคำสั่งให้จ่ายค่าจ้างอย่างเป็นลายลักษณ์อักษร ให้ฝ่ายนายจ้างจ่ายค่าจ้างภายในวันที่ 25 ธ.ค.55
หากยังไม่ยอมจ่ายค่าจ้างตามคำสั่ง ทางฝ่ายนายจ้างก็จะถูกดำเนินคดีทางกฎหมาย ในข้อหา “ไม่จ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างตามกำหนดเวลา” ตามมาตรา 70 พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน ซึ่งเชื่อว่าทางฝ่ายนายจ้างน่าจะยินยอมจ่ายค่าจ้างให้ เพราะมียอดเงินติดค้างรวมเพียงประมาณ 2.5 แสนบาทเท่านั้น