ตราด - ขยายอ่างเก็บน้ำเขาระกำเพิ่ม ส่งผลกระทบน้ำท่วมที่ชาวบ้าน สำนักสงฆ์พลอยเดือดร้อนไปด้วย หลังน้ำท่วมสูง 1.5 เมตร ชาวมอญศรัทธาบริจาคเงินช่วย
วันนี้ (19 ธ.ค.) ที่สำนักสงฆ์เขาระกำ หรือสำนักสงฆ์เขามอญ ต.วังกระแจะ อ.เมือง จ.ตราด พระอาจารย์พุดซ้อน อินทวังโส เจ้าสำนักสงฆ์กำลังหารืออยู่กับญาติโยม นำโดยนางทัศนีย์หรือติ่ง ผ่องศรี พร้อมแรงงานชาวมอญจำนวนหนึ่ง ที่มาทำบุญ โดยขณะนี้มีปัญหาเรื่องการทำบุญที่ต้องทำที่เนินทางเข้าสำนักสงฆ์ เนื่องจากสำนักสงฆ์ กุฏิ ศาลาการเปรียญ ทางเดินเข้ามีน้ำท่วมขังตั้งแต่ 1-1.5 เมตร ไม่สามารถทำพิธีได้สะดวก สิ่งของต่างๆ ต้องขนขึ้นมาไว้ริมทางเป็นการชั่วคราว ขณะที่พระพุทธรูปองค์ใหญ่ สูงกว่า 10 เมตร หน้าตักกว้าง 5 เมตร ศิลปะมอญ ชื่อพระพุทธศิริวดลมงคลชัย ที่ชาวมอญกว่า 400 คนซึ่งมาตั้งถิ่นฐานรับจ้างกรีดยางพารา สมทบทุนกันสร้างขึ้นมาเมื่อ 6-7 ปีที่ผ่านมา ยังไม่ถูกน้ำท่วม แต่หากระดับน้ำในอ่างเก็บน้ำเขาระกำสูงขึ้นเต็มความจุ จะทำให้น้ำท่วมพระพุทธรูปถึงไหล่
นางทัศนีย์ กล่าวว่า น้ำเพิ่งท่วมเมื่อ 2 เดือนที่ผ่านมา เนื่องจากชลประทานจังหวัดตราด ได้ทำการขยายอ่างเก็บน้ำเขาระกำ ให้มีความจุเพิ่มขึ้นอีก 20 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) จากเดิม 40 ล้าน ลบ.ม. เป็น 60-65 ล้าน ลบ.ม. ทำให้พื้นที่ทางการเกษตรของชาวบ้านจำนวนมากถูกน้ำท่วม รวมทั้งสำนักสงฆ์ก็ท่วม ซึ่งชลประทานจังหวัด และนายกองค์การบริหารส่วนตำบลวังกระแจะเคยมาสำรวจแล้ว แต่หนทางเดียวที่จะแก้ไขได้ คือ ย้ายสำนักสงฆ์แห่งนี้ไปสถานที่ใหม่ในเร็วๆ นี้
ด้านพระอาจารย์พุดซ้อน กล่าวว่า รู้สึกเสียใจ และเสียดายที่ต้องสูญเสียสิ่งปลูกสร้าง ที่เกิดจากน้ำพักน้ำแรงของพี่น้องชาวมอญทุกคน ส่วนการแก้ไขคงจะขอให้ญาติโยมช่วยเหลือทางวัดโดยเร็ว เพราะปัจจุบัน กิจของสงฆ์ก็ทำได้ไม่สะดวกนัก คาดว่าปีหน้าจะได้ก่อสร้างสำนักสงฆ์แห่งใหม่บนที่ดินที่ชาวบ้านร่วมกันบริจาคให้ใหม่เร็วๆ นี้
นายโก๊ะ โต กรรมการวัดกล่าวว่า ชาวมอญที่อาศัยอยู่ในบริเวณนี้ศรัทธาพระอาจารย์พุดซ้อน เนื่องจากเป็นพระนักปฏิบัติ ชาวมอญจึงบริจาคเงินช่วยก่อสร้างวัด และทำนุบำรุงวัดเป็นจำนวนมากทุกปี เมื่อวัดมีปัญหาจึงต้องช่วยกันสร้างวัดขึ้นมาใหม่ เพื่อเป็นที่พึ่งทางใจ
ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้สำนักสงฆ์เขาระกำมีพระอาจารย์ประเวช เป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างขึ้นมาเมื่อ 10 ปีที่ผ่านมา และมีพระอาจารย์พุดซ้อน จันทวังโส เข้ามาดูแลเมื่อ 3-4 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นที่เคารพศรัทธาของพี่น้องชาวไทย และชาวมอญในพื้นที่ เนื่องจากเป็นพระนักปฏิบัติ เชิญชวนประชาชนมาทำบุญ ปฏิบัติธรรม ภาวนาธรรมในวันสำคัญทางพุทธศาสนา ส่วนพระพุทธศิริวดลมงคลชัย ชาวมอญที่ศรัทธาได้รวมเงินกันก่อสร้างขึ้น