xs
xsm
sm
md
lg

“ม็อบซาเล็ง” ประจวบฯ กว่าครึ่งพันคันบุกศาลากลางประท้วงขนส่งห้ามใช้รถ จยย.พ่วงข้าง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ประจวบคีรีขันธ์ - ชาวบ้านที่ใช้รถจักรยานยนต์พ่วงข้างในประจวบคีรีขันธ์กว่า 1,200 คน พากันขี่รถซาเล้งพ่วงข้างกว่า 500 คันมาชุมนุมประท้วงที่หน้าศาลากลางประจวบฯ นานกว่า 3 ชั่วโมง ภายหลังจากสำนักงานขนส่งจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ออกคำสั่งห้าม “ใช้รถจักรยานยนต์พ่วงข้าง” โดยอ้างว่าก่อให้เกิดปัญหาการจราจร และอาจเกิดอันตรายต่อชีวิต และทรัพย์สินของประชาชน ทำให้ผู้ว่าฯประจวบฯ ต้องลงมาเจรจา และให้ชะลอการจับกุมออกไป พร้อมให้กลุ่มรถซาเล้งทำหนังสือถือรัฐสภาเพื่อแก้กฏหมาย

เมื้่อเวลา 10.30 น.วันนี้ (17 ธ.ค.) ที่หน้าศาลากลางจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ นางกรณ์อุมา พงษ์น้อย แกนนำกลุ่มผู้ใช้รถจักรยานยนต์พวงข้าง หรือรถซาเล้ง จาก อ.สามร้อยยอด กุยบุรี และ อ.เมือง กว่า 1,200 คน นำรถชาเล้งกว่า 500 คันมาชุมนุมประท้วงที่หน้าศาลากลางเพื่อกดดัน และยื่นหนังสือต่อผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เพื่อให้ยกเลิกการบังคับใช้มาตรการจับกุมรถซาเล้งของสำนักงานขนส่งจังหวัด ที่นำเอากฎหมายพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ.2522 มาตรา 22 และบทกำหนดโทษมาตรา 60 มาบังคับใช้กับรถจักรยานยนต์พวงข้างทุกคัน โดยห้ามใช้ และหากฝ่าฝืนจะทำการจับกุมและเปรียบเทียบปรับเป็นจำนวน 2,000 บาท ซึ่งสร้างความเดือดร้อนให้แก่ชาวบ้านซึ่งเป็นผู้ประกอบอาชีพหาเช้ากินค่ำ

จากนั้น นายวีระ ศรีวัฒนตระกูล ผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ พร้อมด้วยขนส่งจังหวัด ผกก.สภ.เมืองประจวบคีรีขันธ์ พาณิชย์จังหวัด อุตสาหกรรมจังหวัด และตัวแทนกลุ่มซาเล้งได้เข้าประชุมหารือเพื่อหาข้อยุติ โดยนายวีระ ได้แสดงความห่วงใยต่อการใช้รถจักรยานยนต์พวงข้าง ซึ่งเป็นรถที่ผิดกฎหมาย ประกอบกับที่ผ่านมา มีปัญหาเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง และกฎหมายฉบับนี้ได้ประกาศใช้มากว่า 30 ปีทั่วประเทศ แต่ยังไม่มีการบังคับใช้อย่างจริงจัง เพราะโดยข้อเท็จจริงแล้ว ชาวบ้านได้นำรถดัดแปลงนี้มาประกอบอาชีพค้าขาย และยังเป็นการลงทุนน้อยกว่ารถยนต์

ในส่วนของหนังสือที่ทางสำนักงานขนส่งให้แก่กลุ่มซาเล้งนั้น เนื่องจากก่อนหน้านี้มีการประชุมมาตรการความปลอดภัยบนท้องถนน และเพื่อรักษาความเป็นระเบียบทางจราจร จึงได้นำกฎหมายที่มีอยู่แล้วบังคับใช้

ในส่วนของชาวบ้านกล่าวว่า การที่สำนักงานขนส่งนำกฎหมายมาบังคับใช้ สร้างความเดือดร้อนให้แก่ชาวบ้านซึ่งเป็นผู้มีอาชีพหาเช้ากินค่ำ และมีรายได้น้อย หากมีการจับกุมจริง ก็ไม่รู้ว่าจะจ่ายเงินค่าปรับครั้งละ 2,000 ได้อย่างไร และจะให้ไปทำอาชีพอะไรได้ เพราะการค้าขายและใช้รถพวงข้างนี้เป็นเครื่องประกอบอาชีพ เป็นต้นทุนที่ไม่แพง จึงขอวิงวอนหน่วนงานรัฐให้ชะลอการบังคับใช้กฎหมายนี้ออกไป ทั้งยังเป็นกฎหมายที่ล้าหลังถึง 33 ปี และทั้งประเทศก็มีรถชนิดนี้นับแสนคัน

ต่อมา นายวีระ ศรีวัฒนตระกูล ผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ได้เรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมารับทราบข้อมูล พร้อมทั้งชะลอการจับกุมนี้ไปก่อน และให้กลุ่มผู้ใช้รถพวงข้างมีมาตรการด้านความปลอดภัย เช่น ติดไฟท้าย ไฟส่องสว่างให้ถูกต้องตามกฎหมาย เนื่องจากอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นมาจากรถพวงข้างไม่มีสัญญาณไฟ โดยเฉพาะช่วงกลางคืน และบนถนนสายหลัก

นอกจากนี้ ยังได้ให้กลุ่มรถจักรยานยนต์พวงข้าง รวมกลุ่มกันเพื่อเรียกร้องนำข้อเสนอนี้ส่งไปให้รัฐสภาแก้กฏหมายให้ทันกับสถานการณ์จริง หลังจากนั้น ในช่วงเวลา 13.30 น.กลุ่มผู้ขับขี่ซาเล้งจึงยอมเดินทางกลับ



กำลังโหลดความคิดเห็น