xs
xsm
sm
md
lg

อีสานโพลเผยคนอีสานไม่ต้องการให้รัฐแก้ รธน.ทั้งฉบับ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศูนย์ข่าวขอนแก่น - อีสานโพล เผยผลสำรวจคนอีสานไม่ต้องการให้รัฐแก้ รธน.ทั้งฉบับ ย้ำต้องทำประชามติก่อน ชี้หากรัฐแก้รัฐธรรมนูญผ่านวาระ 3 โดยไม่สอบถามประชาชน เชื่อเป็นชนวนเหตุเกิดความขัดแย้งรุนแรง

ศูนย์วิจัยธุรกิจและเศรษฐกิจอีสาน (ECBER) คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น หรืออีสานโพล (E-Saan Poll) เผยผลสำรวจเรื่อง “ชาวอีสานกับรัฐธรรมนูญ” โดยผลสำรวจพบว่า แม้กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่มีความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญไม่มาก แต่ยังไม่อยากให้แก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ซึ่งถ้าจะแก้ทั้งฉบับต้องมีการทำประชามติ และเชื่อว่า หากมีการแก้ไขโดยไม่ถามความเห็นประชาชนก่อน อาจนำมาซึ่งความขัดแย้งรุนแรง

ดร.สุทิน เวียนวิวัฒน์ หัวหน้าโครงการอีสานโพล เปิดเผยว่า การสำรวจนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสำรวจความคิดเห็นของคนอีสานเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญไทย โดยทำการสำรวจระหว่างวันที่ 6-7 ธันวาคม 2555 จากกลุ่มตัวอย่าง 749 ราย ในเขตพื้นที่ภาคอีสาน 20 จังหวัด ได้แก่ นครราชสีมา ขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ หนองคาย ชัยภูมิ เลย อุบลราชธานี อุดรธานี นครพนม หนองบัวลำภู สุรินทร์ บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ สกลนคร มุกดาหาร ยโสธร อำนาจเจริญ และบึงกาฬ

อีสานโพล ได้สอบถามชาวอีสานว่า ทราบหรือไม่ถึงที่มาของการกำหนดให้วันที่ 10 ธันวาคม ที่กำลังจะมาถึงเป็นวันรัฐธรรมนูญ ผลการสำรวจพบว่า ส่วนใหญ่ร้อยละ 53.8 ไม่ทราบ รองลงมา ร้อยละ 28.6 เคยทราบ แต่จำไม่ได้แล้ว มีเพียงร้อยละ 17.6 เท่านั้นที่ทราบที่มาของวันรัฐธรรมนูญ และเมื่อถามต่อว่า ทราบหรือไม่ว่ารัฐธรรมนูญไทย ฉบับปัจจุบัน (ปี 2550) มีทั้งหมดกี่มาตรา ส่วนใหญ่ร้อยละ 69.3 ไม่ทราบ รองลงมาร้อยละ 28.2 เคยทราบ แต่จำไม่ได้ มีเพียงร้อยละ 2.5 เท่านั้นที่ทราบ

เมื่อถามความเห็นของกลุ่มตัวอย่างว่า ทราบหรือไม่ว่าที่ผ่านมา ประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญมาแล้วทั้งสิ้นกี่ฉบับ ส่วนใหญ่ร้อยละ 70.1 ไม่ทราบ รองลงมา ร้อยละ 24 เคยทราบ แต่จำไม่ได้ และมีกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 5.9 ที่ทราบว่า ประเทศไทยเคยมีรัฐธรรมนูญมาแล้วกี่ฉบับ

อีสานโพล ได้สอบถามถึงความคิดเห็นของกลุ่มตัวอย่างเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ว่า รัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว จำเป็นต้องได้รับการแก้ไขหรือไม่ ร้อยละ 43.8 เห็นว่าควรแก้เป็นรายมาตราตามความเหมาะสม ใกล้เคียงกับความเห็นที่ว่า ยังไม่ถึงเวลาที่เหมาะสมที่มีผู้ตอบถึงร้อยละ 41.3 โดยมีกลุ่มตัวอย่างชาวอีสานเพียงร้อยละ 12.3 เห็นว่าควรแก้ทั้งฉบับ และอีกร้อยละ 2.7 ไม่ทราบ/ไม่แน่ใจ

เมื่อสอบถามว่า ทราบหรือไม่ว่า รัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 มาตรา 291 เป็นมาตราว่าด้วยเรื่องอะไร ส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 76.5 ไม่ทราบเลย รองลงมาร้อยละ 20.7 ทราบเพียงเล็กน้อย มีเพียงร้อยละ 2.8 ที่ทราบ/เข้าใจเป็นอย่างดี อีสานโพลได้สอบถามต่อว่า กลุ่มตัวอย่างชาวอีสานมีความคิดเห็นอย่างไร หากรัฐสภาจะทำการลงมติโหวตร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 ในวาระ 3 เพื่อนำไปสู่การตั้ง ส.ส.ร. เพื่อยกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ

ผลสำรวจพบว่า กลุ่มตัวอย่างชาวอีสานส่วนใหญ่ ร้อยละ 35.1 เห็นว่าควรทำประชามติก่อนโหวตวาระ 3 และให้ทำประชามติอีกครั้งเพื่อรับร่างรัฐธรรมนูญ รองลงมา ร้อยละ 26.7 เห็นว่า ให้ทำประชามติก่อนโหวตวาระ 3 เพียงครั้งเดียว อีกร้อยละ 17.8 เห็นว่า ควรเดินหน้าโหวตวาระ 3 แล้วค่อยลงประชามติรับรองร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ภายหลัง และร้อยละ 14.3 ให้เดินหน้าแก้ไขได้เลย โดยไม่ต้องทำประชามติ นอกจากนี้ ยังมีความเห็นอีกร้อยละ 2.5 เห็นว่าให้รัฐสภาโหวตร่างรัฐธรรมนูญให้ตกไป และอีกร้อยละ 3.6 ไม่ทราบ/ไม่แน่ใจ

อีสานโพล ได้สอบถามถึงผลกระทบที่กลุ่มตัวอย่างชาวอีสานคาดว่าจะเกิดขึ้น หากปล่อยให้รัฐสภามีการโหวตร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 ในวาระ 3 โดยไม่มีการทำประชามติสอบถามความเห็นประชาชนก่อน ผลสำรวจพบว่า ส่วนใหญ่ร้อยละ 40.7 เชื่อว่าจะส่งผลไปสู่ความขัดแย้งที่มากขึ้น หรือการประท้วงที่รุนแรง รองลงมา ร้อยละ 35.8 ยังไม่แน่ใจ และร้อยละ 23.5 เชื่อว่าจะไม่ส่งผลให้เกิดความขัดแย้งรุนแรง

“จากผลการสำรวจข้างต้นทำให้เห็นว่า ประชาชนโดยเฉพาะชาวอีสานมีความรู้เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญไทยน้อย แม้จะเป็นเรื่องที่สำคัญต่อการเมืองการปกครองของประเทศ สำหรับประเด็นเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2550 ส่วนใหญ่ต้องการให้แก้เพียงบางมาตราตามความเหมาะสม ในสัดส่วนใกล้เคียงกับผู้ที่มีความเห็นว่า ยังไม่ถึงเวลาที่ต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ สำหรับความเห็นกรณีที่รัฐสภาจะลงประชามติในวาระ 3 เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ ปี 2550 ในมาตรา 291 ที่จะนำไปสู่การตั้ง ส.ส.ร. และแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับนั้น

ชาวอีสานส่วนใหญ่ต้องการให้มีการทำประชามติในกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยเห็นว่า หากปล่อยให้มีการโหวตผ่านสภาโดยไม่มีการสอบถามความเห็นประชาชนก่อน อาจทำให้เกิดความขัดแย้ง หรือการประท้วงที่รุนแรงได้ ซึ่งปัญหาดังกล่าวอาจก่อให้ปัญหาความแตกแยกในสังคมที่มีอยู่ทวีความรุนแรงมากขึ้น ดังนั้น รัฐสภาควรทำความเข้าใจ และรับฟังเสียงสะท้อนจากประชาชนเพื่อให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมอย่างแท้จริง” ดร.สุทินกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น