xs
xsm
sm
md
lg

อากาศเปลี่ยนลูกช้างเริ่มป่วย “พังไข่หวาน” น่าเป็นห่วง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ลำปาง - สภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งมีทั้งฝนตก อากาศร้อนอบอ้าวในเวลากลางวัน สลับหนาวในเวลากลางคืน ทำลูกช้างที่มีร่างกายอ่อนแอได้รับผลกระทบแล้ว ล่าสุด “พังไข่หวาน” วัย 2 เดือนเศษ ป่วยจนน่าเป็นห่วง สัตวแพทย์ต้องฉีดวัคซีนป้องกัน หวั่นการติดเชื้อไวรัสรุนแรง และต้องเฝ้าจับตาตลอด 24 ชั่วโมง

รายงานข่าวจากจังหวัดลำปาง แจ้งว่า ที่เนอสเซอรรี่ช้าง สถาบันคชบาลแห่งชาติ ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย จ.ลำปาง น.สพ.ดร.สิทธิเดช มหาสาวังกูล หัวหน้าโรงพยาบาลช้าง ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทยฯ จังหวัดลำปาง ได้เข้าตรวจดูสภาพร่างกายของพังไข่หวาน ที่อายุได้เพียง 2 เดือน 13 วัน หลังจากที่ป่วยมีอาการเจ็บบริเวณลำคอ ช่องปากบวมแดง ดวงตาแดงก่ำ กินนมได้น้อย และนอนเป็นเวลานานๆ ไม่ซุกซนร่าเริงเหมือนก่อนหน้านี้ ซึ่งถือว่าช้างเชือกนี้อาการน่าเป็นห่วงอย่างมาก

อย่างไรก็ตาม หลังจากที่รักษามาแล้ว 3 วัน ล่าสุด พบว่าช่องปากที่บวมแดงอาการเริ่มดีขึ้น ดวงตาที่แดงก่ำเริ่มที่จะหายดีบ้างแล้ว สามารถที่จะกินนมแม่รับ และนมจากควาญช้างเอามาป้อนให้ได้ ถือว่าดีขึ้น แต่อาการโดยรวมยังไม่น่าไว้ใจเพราะเป็นช้างเล็ก

น.สพ.ดร.สิทธิเดช กล่าวว่า จากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงในช่วงนี้ส่งผลทำให้ช้างเล็ก ช้างชราเริ่มเจ็บป่วยกันแล้ว โดยเฉพาะพังไข่หวานซึ่งเมื่อเกิดมาแม่ก็ล้มตาย ทำให้พังไข่หวานไม่ได้รับนมน้ำเหลืองจากแม่ช้าง ซึ่งถือว่าเป็นภูมิคุ้มกันโรค เมื่อเจอกับสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงจึงส่งผลให้ช้างป่วย

จากสภาพอาการป่วยของพังไข่หวาน พบว่า ปากบวม คอบวม ตาแดงก่ำ ลิ้นจุกปาก ทำให้กินอาหารยาก ในเบื้องต้น สัตวแพทย์ได้ให้ยาปฏิชีวนะคุมปอดบวมอักเสบแล้ว

ทั้งนี้ เกรงว่าช้างอาจจะติดเชื้อไวรัสชนิดหนึ่งที่รุนแรงในช้างเล็กคือ เชื้อเฮอปิส์ไวรัส ซึ่งหากว่าช้างเล็กได้รับเชื้อนี้ จะส่งผลทำให้ช้างล้มได้ทันทีภายใน 24 ชั่วโมง ดังนั้น สัตว์แพทย์จึงได้ฉีดยาป้องกันไวรัสให้ช้างแล้ว ผ่านมา 3 วัน ช้างมีอาการดีขึ้นบ้างแต่ภาพรวมยังไม่น่าไว้วางใจ ต้องเฝ้าจับตาดูอาการตลอด 24 ชั่วโมง

ส่วนช้างเชือกอื่นๆ ศูนย์อนุรักษ์ได้มีการตรวจสุขภาพร่างกายช้างเป็นประจำแต่ไม่น่าเป็นห่วงมากนัก แต่ที่น่าเป็นห่วงคือ ช้างที่ถูกเลี้ยงตามป่า และสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ จึงขอฝากเตือนให้ควาญช้างดูแลช้างอย่างใกล้ชิด หากพบเห็นว่าช้างมีอาการผิดปกติรีบนำตัวมารักษาทันที หรือรีบแจ้งให้สัตวแพทย์เข้าตรวจสุขภาพช้างโดยด่วน เพราะจะเป็นการช่วยเหลือชีวิตช้างได้อย่างรวดเร็ว



กำลังโหลดความคิดเห็น