อ่างทอง - ชาวบ้านไชโย เมืองอ่างทอง ท้อน้ำไม่พอทำนาหลังภัยแล้งคุกคามหนัก ยึดสันดอนริมเจ้าพระยาที่มีความยาวหลายกิโลเมตรปลูกพืชระยะสั้นเป็นอาชีพเสริม เผยปีนี้ มีชาวบ้านลงทุนทำน้อยกว่าทุกปีหลังมีข่าวทางชลประทานจะมาลอกแม่น้ำอีกครั้ง อาจจะทำให้เก็บผลผลิตไม่ทันจนได้รับความเสียหาย
วันนี้ (19 พ.ย.) นางละเอียด ช้างเถื่อน อายุ 73 ปี ชาวบ้านในเขตหมู่ที่ 3 ต.ไชยภูมิ อ.ไชโย จ.อ่างทอง เปิดเผยว่า ปกติที่บ้านทำนาเป็นอาชีพหลัก โดยบุตรเขย และลูกหลานช่วยกันทำ ซึ่งทุกปีเมื่อถึงฤดูแล้งก็จะพากันไปปลูกพืชระยะสั้นตามริมสันดอนแม่น้ำเจ้าพระยาเพื่อเป็นอาชีพเสริม เนื่องจากน้ำไม่เพียงพอในการทำนา โดยทุกปีเมื่อเข้าสู่ฤดูแล้ง น้ำเจ้าพระยาลดจนเกิดเป็นสันดอนขึ้นมีความยาวหลายกิโลเมตร ชาวบ้านที่มีบ้านอยู่ตามริมแม่น้ำเจ้าพระยาต่างก็จะไปจับจองพื้นที่สันดอนริมเจ้าพระยาบริเวณใกล้บ้านของตนเองไว้ จากนั้น ก็จะขุดหลุมขนาดใหญ่กว้างประมาณ 1 เมตร กว่า 100 หลุมเพื่อนำเมล็ดพันธุ์ต้นแตงแก่ลงไปเพาะปลูกบริเวณสันดอนที่เกิดขึ้น
“ทุกปีในหน้าแล้ง ชาวบ้านส่วนใหญ่ที่มีอาชีพทำนาต่างปรับตัวมาทำอาชีพเสริมกันหมด เนื่องจากน้ำไม่มีเพียงพอในการทำนา ด้วยการหันมาปลูกพืชระยะสั้น เช่น แตงร้าน ถัวลิสง ถัวฝักยาวที่มีอายุสั้น และใช้น้ำน้อย โดยยึดพื้นที่หน้าบ้านที่เป็นสันดอนกว้างหน้าบ้านตัวเป็นแปลงปลูก แล้วนำไปขาย แต่ในปีนี้มีเพียงบางรายเท่านั้นที่ยอมลงทุนเสี่ยง เนื่องจากมีข่าวว่าทางชลประทานจะมาลอกแม่น้ำอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งอาจจะเก็บผลผลิตไม่ทัน และจะทำให้เสียหาย แต่เนื่องจากไม่มีอาชีพเสริมหารายได้จำเป็นต้องเสี่ยงปลูกพืชทำดู ซึ่งต้องลงทุนนับหมื่นบาท แต่หากเก็บผลผลิตไม่ทันก่อนที่เขาจะมาลอกแม่น้ำ ก็จะสูญเงินเปล่า ซึ่งจะทำให้ขาดทุนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ก็จำต้องทำเพราะไม่รู่จะไปทำอาชีพอะไร” นางละเอียด เปิดเผย
ขณะที่ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาในพื้นที่จังหวัดอ่างทอง เฉลี่ยอยู่ที่ 1 เมตรโดยที่สถานีชลมาตร C7 a ของสำนักชลประทานที่ 12 บริเวณหน้าศาลากลางจังหวัดอ่างทองวัดได้ 1.03 เมตรจากระดับน้ำทะเล ทำให้หลายฝ่ายคาดการณ์ว่าปีนี้ในพื้นที่จะประสบปัญหาภัยแล้งยาวนานกว่าทุกปี จึงเตือนให้เกษตรกรงดปลูกข้าวนาปรัง และหันมาปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อยแทน