xs
xsm
sm
md
lg

ชาวประมงเพชร-สมุทรสงครามจี้ภาคตรวจสาเหตุ “หอยแครง แมลงภู่ ปลา” ลอยน้ำตาย เสียหายนับ 100 ล้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เพชรบุรี - ชาวประมงเพชรบุรี และสมุทรสงครามเดือดร้อนหนัก หลัง “หอยแครง หอยแมลงภู่ ปลา” ลอยน้ำตายเป็นจำนวนมาก รวมตัวจี้ภาครัฐยื่นมือเข้าช่วยเหลือ พร้อมทั้งตรวจสอบสาเหตุที่แท้จริงว่าเกิดจากภัยพิบัติ หรือโรงงานปล่อยน้ำเสียลงทะเล เผยคิดมูลค่าความเสียหายนับ 100 ล้านบาท

วันนี้ (13 พ.ย.) กลุ่มชาวประมง ผู้ประกอบอาชีพเลี้ยงหอยแมลงภู่ และหอยแครงใน ต.บางตะบูน ต.บ้านแหลม อ.บ้านแหลม จ.เพชรบุรี รวมไปถึงชาว ต.คลองโคน อ.เมือง จ.สมุทรสงคราม กว่า 500 คน ซึ่งมีพื้นที่ทำกินอยู่ในทะเลบ้านแหลม ได้เดินทางมารวมตัวกันที่หอประชุมเทศบาลตำบลบางตะบูน อ.บ้านแหลม จ.เพชรบุรี หลังได้รับความเดือดร้อนจากกรณีน้ำทะเลดำคล้ำ มีกลิ่นเหม็น ส่งผลให้ปลาทะเล หอยแมลงภู่ และหอยแครง รวมถึงปลากะพงในกระชังที่เลี้ยงไว้ตายเป็นจำนวนมาก

ดังนั้น ชาวประมงจึงรวมตัวเดินทางมาเรียกร้องหาสาเหตุที่เกิดขึ้นพร้อมกับขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือ โดยมีนายยุทธพล อังกินันทน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) พรรคชาติไทยพัฒนา นายชัยยศ สงวนทรัพย์ นายกเทศมนตรีตำบลบางตะบูน นายกิตติศักดิ์ บัวลาด ประมงอำเภอบ้านแหลม นายจิระ แก้วมณี นายก อบต.คลองโคน เดินทางเข้ามารับฟังความคิดเห็น และความเดือดร้อนของชาวบ้าน

ด้านนางสม สวัสดี และนางบุญมา ศรีลาวรรณ ชาวประมง อ.บ้านแหลม ตัวแทนชาวประมงที่ได้รับความเดือดร้อน เผยว่า ชาวประมงกำลังประสบปัญหาหอยล้มตายเป็นจำนวนมาก เนื่องจากช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา ประมาณวันที่ 5 ตุลาคม 2555 จากการสังเกตพบว่า น้ำทะเลเกิดการเน่าเสีย มีสีดำคล้ำ ส่งกลิ่นเหม็นจนกระทั้งช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา มีปลาลอยตายนับล้านตัว โดยเฉพาะหอยแครง และหอยแมลงภู่ในคอกที่เลี้ยงไว้ก็ตายเป็นจำนวนมาก จึงอยากให้ภาครัฐ หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาตรวจสอบอีกครั้ง เพราะก่อนหน้านี้ ช่วงวันที่ 2 ตุลาคม 2555 ทางศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่ง จ.เพชรบุรี ได้ส่งเจ้าหน้าที่เข้ามาตรวจสอบวัดค่าความเค็มของน้ำ พบว่า ค่าความเค็มปกติแต่สัตว์ทะเลต่างทยอยตายเป็นจำนวนมาก

จากนั้น นายชัยยศ สงวนทรัพย์ นายกเทศมนตรีตำบลบางตะบูน ได้นำนายยุทธพล อังกินันทน์ พร้อมคณะนั่งเรือเดินทางลงตรวจสอบพื้นที่บริเวณปากอ่าวบางตะบูน อ.บ้านแหลม พบว่า น้ำทะเลมีสีดำคล้ำ และมีกลิ่นเห็นอย่างที่ชาวบ้านกล่าวอ้างจริง บริเวณชายฝั่งบางจุด ยังมีปลาตายลอยอืดขึ้นกลางแม่น้ำ อย่างเช่นกระเบนราหูตัวนี้ ซึ่งมีขนาดใหญ่ กว้าง 1 เมตร 90 เซนติเมตร ยาว 4 เมตร 40 เซนติเมตร น้ำหนักกว่า 100 กิโลกรัม ซึ่งเป็นปลาขนาดใหญ่ยังไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ภายในน้ำ

ประกอบกับวันเดียวกัน นายปวโรจน์ นรนาถตระกูล นักวิชาการศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงทะเลอ่าวไทย ตอนบน จ.สมุทรปราการ ลงพื้นที่ตรวจวัดค่าน้ำความเค็ม อุณหภูมิ ออกซิเจน ค่ากรดด่างบริเวณกลางแม่น้ำปากอ่าวบางตะบูน เบื้องต้นพบว่า ค่าออกซิเจนต่ำกว่าปกติอยู่ที่ 0.2-0.3 มิลลิกรัมต่อลิตร จึงอาจจะเป็นสาเหตุที่ทำให้สัตว์ทะเลไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ และล้มตายเป็นจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม จะต้องนำน้ำไปตรวจวัดค่าอย่างชัดเจนอีกครั้ง

นายชัยยศ กล่าวอีกว่า สิ่งที่ชาวประมงกำลังต้องการในขณะนี้อยากทราบสาเหตุที่แท้จริงที่ทำให้สัตว์ทะเลล้มตายเป็นจำนวนมากว่าเกิดจากสาเหตุใด เพื่อขอรับการเยียวยาแก้ไขจากภาครัฐ เพราะชาวประมงได้ลงทุนไว้รวมกันกว่า 100 ล้านบาท ประกอบกับก่อนหน้านี้ มีชาวประมงในพื้นที่ ต.คลองโคน อ.เมือง จ.สมุทรสงคราม พบเรือขนาดใหญ่ลอยลำกลางทะเล จำนวน 4 ลำ ซึ่งคาดว่าอาจจะเป็นเรือที่นำน้ำเสียจากโรงงานมาปล่อยทิ้ง ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ

นายยุทธพล อังกินันทน์ ส.ส.พรรคชาติไทยพัฒนา ซึ่งเดินทางเข้าไปรับฟังสภาพปัญหาความเดือดร้อนของชาวบ้านด้วยตนเอง เผยว่า จากการรวบรวมข้อมูลจากประมง จ.เพชรบุรี พบว่า ในพื้นที่อำเภอบ้านแหลม มีฟาร์มหอยแครง และหอยแมลงภู่ของเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนไว้ 881 ราย พื้นที่เพาะเลี้ยง 14,000 ไร่ แยกเป็นหอยแครง 464 ราย และหอยแมลงภู่ 417 ราย ซึ่งจากการตรวจสอบในเบื้องต้นพบว่า ได้รับผลกระทบทั้งหมด

ทั้งนี้ จะมีการประชุมหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นประมงจังหวัดเพชรบุรี อำเภอบ้านแหลม ชลประทานจังหวัดเพชรบุรี ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่ง จ.เพชรบุรี และสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดเพชรบุรี เพื่อหาสาเหตุที่แท้จริง และหาแนวทางเยียวยาแก้ไขความเดือดร้อนให้แก่ชาวประมงให้เร็วที่สุด โดยเฉพาะประเด็นการประกาศให้เป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติ เนื่องจากปัญหาหอยตายของเกษตรกรมีมาอย่างต่อเนื่อง และก่อนหน้านี้ เคยมีการจัดตั้งคณะทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาการตายของหอยในระดับอำเภอ และระดับจังหวัด เพื่อพิจารณาให้การช่วยเหลือตามหลักเกณฑ์ ซึ่งการให้ความช่วยเหลือนั้น ระเบียบกระทรวงการคลังระบุ เกษตรกร 1 ราย ช่วยเหลือรายละไม่เกิน 5 ไร่ คิดเป็นเงิน 9,098 บาทต่อ 1 ไร่ ดังนั้น การช่วยเหลือเยี่ยวยาในครั้งนี้น่าจะอยู่ที่ 36 ล้านบาท


กำลังโหลดความคิดเห็น