พระนครศรีอยุธยา - พบ “พระนอนขนาดใหญ่” อายุกว่า 600 ปีถูกทิ้งกลางทุ่ง “โคกพระนอน” ชาวบ้านเผยพบเห็นพระนอนองค์นี้ถูกทิ้งร้างมานาน จึงเข้ามาถากถางหญ้าที่องค์พระอยู่เป็นประจำ เป็นพระพุทธรูปที่สวยงามมาก มีขนาดใหญ่กว่าพระนอนที่วัดใหญ่ชัยมงคล วอนให้กรมศิลปากรเข้ามาบูรณะให้มีความสมบูรณ์ ด้านกรมศิลปากรระบุ เป็นพระที่สร้างในสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช กับพระเอกาทศรถ
วันนี้ (13 พ.ย.) ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งจากชาวบ้านว่า พบพระนอนขนาดใหญ่ถูกทิ้งร้างอยู่กลางทุ่ง “โคกพระนอน” เขตติดต่อ ต.คลองสวนพลู กับ ต.เกาะเรียน อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา จึงเดินทางไปตรวจสอบพบว่า การเดินทางเป็นไปด้วยความยากลำบาก มีน้ำท่วมขัง และป่าหญ้าปกคลุมหนาแน่นต้องใช้เรือพายเข้าไป พบว่ามีสภาพรกร้างมีต้นหญ้าขึ้นปกคลุมองค์พระนอน เมื่อถางหญ้าออกพบว่าที่ปลายเท้าแตกหัก ช่วงเอวหักขาดออกจากัน ท่อนแขนหัก เป็นลักษณะปูนปั้น
ส่วนเศียรพระนอนหักกองอยู่กับพื้น มีขนาดกว้าง 1.50 เมตร ยังคงความสวยสดงดงามมีสันจมูกดวงตา ส่วนปากแตกหัก ใกล้กันพบเกศพระขององค์พระนอนอยู่ในสภาพชำรุด ความยาวทั้งองค์พระนอนประมาณ 10-15 เมตร ส่วนบริเวณโดยรอบขององค์พระนอนมีฐานพระพุทธรูปเรียงรายโดยรอบ
นายจุก ดีมาก อายุ 77 ปี อยู่บ้านเลขที่ 9 ม.3 ต.คลองสวนพลู ชาวบ้านอยู่บริเวณใกล้เคียงกับโคกพระนอน เปิดเผยว่า จะเข้ามาพักอาศัยหลบแดดเวลาที่ออกมาหาปลา พบเห็นพระนอนองค์นี้ถูกทิ้งร้างมานาน จึงเข้ามาถากถางหญ้าที่องค์พระอยู่เป็นประจำ เป็นพระพุทธรูปที่สวยงามมากมีขนาดใหญ่กว่าพระนอนที่วัดใหญ่ชัยมงคล เพราะตนเคยเป็นช่างปั้นแต่งบูรณะพระนอนที่วัดใหญ่ชัยมงคล
“อยากให้เจ้าหน้าที่กรมศิลปากรเข้ามาบูรณะพระนอนให้มีความสมบูรณ์เพื่อเปิดให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวได้ศึกษาประวัติศาสตร์ และประชาชนได้เข้ามาสักการบูชา เนื่องจากบริเวณโดยรอบนี้ยังมีวัดเก่าแก่อีกหลายวัด หากปล่อยทิ้งไว้กลัวว่าตัวองค์พระนอนจะพังทลายลงมาอีก เห็นแล้วรู้สึกเวทนา เคยมีคนเข้ามาลักลอบขุดหาของเก่าแล้วต้องรีบเอาของกลับมาคืนเนื่องจากเจออาถรรพ์ต่างๆ นานา ส่วนนัยน์ตาขององค์พระนอนถูกคนควักเอาไปน่าจะทำด้วยพลอย หรือนิล”
ด้านนายเอนก สีหามาตย์ รองอธิบดีกรมศิลปากร เปิดเผยว่า วัดพระนอนแห่งนี้เป็นวัดที่ตั้งอยู่บนเนินกลางทุ่งนาอยู่ทางทิศตะวันออกในกลุ่มโบราณสถานอโยธยา ซึ่งกลุ่มจะมีวัดใหญ่ชัยมงคล วัดสามปลื้ม วัดอโยธยา รวมทั้งวัดพระนอนแห่งนี้ อายุกว่า 600 ปี มีเนื้อที่ 2 ไร่ สร้างในสมัยอยุธยาตอนกลาง ช่วง พ.ศ.1900 ถึง พ.ศ.2000 ต่อเนื่องหลายสมัย อยู่ในช่วงสมเด็จพระนเรศวร กับสมเด็จพระเอกาทศรถ
“แต่ยังไม่ชัดเจนว่าพระองค์ใดเป็นผู้สร้าง ภายในวัดจะมีวิหารขนาดใหญ่ คลุมองค์พระนอนองค์ใหญ่ ลักษณะปูนปั้น มีความยาวประมาณ 8 เมตร เป็นพระนอนที่มีความสวยสดงดงามองค์หนึ่งในสมัยกรุงศรีอยุธยา มีลักษณะคล้ายกับพระนอนวัดธรรมิกราช จ.พระนครศรีอยุธยา พระนอนภายในวัดพระนอนจักรศรี จ.สิงห์บุรี และนอนในวัดขุนอินทรประมูล จ.อ่างทอง
ปัจจุบัน วัดพระนอนแห่งนี้ซึ่งชาวบ้านจะเรียกกันว่า โคกพระนอน ถูกปล่อยให้ต้นหญ้าขึ้นรกร้างครอบคลุมจนไม่สามารถมองเห็นได้ ประกอบกับเมื่อปี 2554 ที่ผ่านมาน้ำท่วมเนินพระนอน โบราณสถานหลายแห่งถูกน้ำท่วม และมีการสำรวจจนพบองค์พระนอน ซึ่งทราบว่าสำนักงานศิลปากรที่ 3 ได้ทำแผนปรับปรุงบูรณะ โดยทางกรมศิลปากรจะเร่งเข้าไปตรวจสอบเพื่อทำการบูรณะ เชื่อว่าเมื่อบูรณะเสร็จจะเห็นรูปองค์พระนอนที่สวยงาม และเป็นจุดสนใจของนักท่องเที่ยวอีกจุดหนึ่ง”