ศรีสะเกษ - ศูนย์การศึกษาพิเศษประจำ จ.ศรีสะเกษจัดฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ ติวเข้มทักษะพิเศษด้านภาษาต่างๆ และภาษามือให้แก่เด็กพิการเพื่อใช้ในการสื่อสารกับชาวต่างชาติ และเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนปี 2558
วันนี้ (8 พ.ย.) เมื่อเวลา 10.00 น. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ศูนย์การศึกษาพิเศษประจำ จ.ศรีสะเกษ อ.เมือง จ.ศรีสะเกษ ได้ฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการตามโครงการพัฒนาทักษะการดำรงชีวิตเด็กพิการ โดยใช้ครอบครัวเป็นฐาน ตามแนวทางการศึกษาเพื่อการเยียวยาเพื่อให้เด็กพิการมีทักษะการดำรงชีวิตและเสริมทักษะด้านสื่อต่างๆ เพื่อสร้างพัฒนาการเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในปี 2558 โดยมี นายประทีป กีรติเรขา ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ เป็นประธานเปิดโครงการ และมี นางเกตอรอินท์ พิทักษ์โคชญากุล ผู้อำนวยการศูนย์การศึกษาพิเศษประจำ จ.ศรีสะเกษ เป็นผู้กล่าวรายงาน
นายประทีป กีรติเรขา ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ กล่าวว่า โครงการนี้ถือว่าเป็นโครงการที่สำคัญ และเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อเด็กพิการให้ดำรงชีวิตในสังคมได้ ซึ่งในปัจจุบันนี้ประเทศไทยได้ให้ความสำคัญต่อเด็กพิการ โดยจะเห็นได้ชัดจากการออกกฎหมายให้ผู้พิการได้รับสิทธิทางการศึกษา การแพทย์ การคุ้มครอง สื่อเทคโนโลยี สิ่งอำนวยความสะดวก และบริการทางการศึกษา เพื่อให้ทัดเทียมกับบุคคลธรรมดาทั่วไปตามความต้องการ และความจำเป็น ทำให้เด็กพิการได้มีโอกาสแสดงศักยภาพ พัฒนาความพร้อมทางด้านอารมณ์ จิตใจ และสติปัญญาอย่างเหมาะสม เพื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ สามารถอยู่ร่วมกับคนอื่นได้อย่างมีความสุข ไม่เป็นภาระของสังคมต่อไปในภายภาคหน้า
“ประเทศไทยจะเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558 ซึ่งเด็กเหล่านี้ควรจะได้รับการฝึกทั้งในด้านภาษาต่างๆ รวมไปถึงภาษามือ ซึ่งเป็นภาษาสากลของโลก และเพื่อให้สามารถติดต่อสื่อสารกับชาวต่างชาติได้อีกด้วย” นายประทีปกล่าว
นางเกตอรอินท์ พิทักษ์โคชญากุล ผู้อำนวยการศูนย์การศึกษาพิเศษประจำ จ.ศรีสะเกษ กล่าวว่า ในขณะนี้ศูนย์การศึกษาพิเศษประจำ จ.ศรีสะเกษได้มีการติวเข้มให้กลุ่มอาจารย์ผู้สอนในด้านภาษาต่างๆ เพื่อถ่ายทอดความรู้ไปยังกลุ่มเด็กพิการ โดยเน้นสื่อการเรียนการสอนเป็นรูปภาพการ์ตูนเพื่อให้ง่ายต่อการเรียนรู้ อีกทั้งยังสร้างความสนุกสนานในการเรียนอีกด้วย สำหรับภาษามือนั้นถือเป็นภาษาสากลในการติดต่อสื่อสารของกลุ่มคนพิการและใช้กันทั่วโลก ซึ่งตนได้ให้ความสำคัญในเรื่องนี้เป็นอย่างมาก โดยได้เน้นทักษะพิเศษในด้านภาษามือให้กลุ่มเด็กพิการด้านการได้ยิน และเป็นใบ้ซึ่งจะต้องใช้ภาษามือเป็นหลัก โดยมีการกระจายความรู้ต่อไปสู่กลุ่มเด็กพิเศษในประเภทอื่นๆ
“ทั้งนี้ หากเด็กเหล่านี้สามารถใช้ภาษามือในการสื่อสารได้อย่างคล่องแคล่วแล้ว เชื่อว่าจะเป็นประโยชน์อย่างมากในการดำรงชีวิตของเด็กพิการเหล่านี้ในการสื่อสารกับชาวต่างชาติที่จะเดินทางเข้ามาในประเทศ ไทย และการที่ประเทศไทยเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558 ” นางเกตอรอินท์กล่าว