กาญจนบุรี - หนาวนี้ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเอราวัณ กาญจนบุรี ชวนนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทย และต่างประเทศไปเที่ยว “น้ำตกเอราวัณ” สวรรค์บนดินสูง 7 ชั้น ของดีคนเมืองกาญจนบุรี แหล่งท่องเที่ยวอันดับ 2 ของไทย
วันนี้ (5 พ.ย.) นายกมล นวลใย หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเอราวัณ กล่าวว่า อุทยานแห่งชาติเอราวัณ ตั้งอยู่ที่ตำบลท่ากระดาน อำเภอศรีสวัสดิ์ จังหวัดกาญจนบุรี มีพื้นที่ครอบคลุมประมาณ 549.98 ตารางกิโลเมตร หรือ 343,735 ไร่ อยู่ห่างจากตัวเมืองกาญจนบุรี 70 กิโลเมตร ภูมิประเทศโดยรวมเป็นภูเขาสูงชันสลับกับพื้นที่ราบ ภูเขาที่พบส่วนใหญ่เป็นภูเขาหินปูน โดยเฉพาะบริเวณใกล้น้ำตกเอราวัณ ลักษณะเป็นหน้าผา จึงทำให้สภาพภูมิประเทศที่ถูกออกแบบมาจากธรรมชาติมีความสวยงามยิ่ง
นอกจากน้ำตกเอราวัณ ที่นักท่องเที่ยวที่รู้จักกันดีแล้ว ยังมีแหล่งท่องเที่ยวอื่นๆ อีกมากมาย เช่น ถ้ำพระธาตุ และถ้ำวังบาดาล เขาหินล้านปี ป่าดิบแล้งม่องไล่ ขันหมากหมูกลิ้ง นอกจากนี้ จากสภาพพื้นที่อุทยานแห่งชาติ ซึ่งมีแม่น้ำแควใหญ่ไหลผ่าน ประกอบกับลักษณะภูมิประเทศที่เป็นภูเขา จึงทำให้พื้นที่อุทยานแห่งชาติเอราวัณมีทิวทัศน์ซึ่งมีความงดงามตามธรรมชาติอีกแห่งหนึ่ง
น้ำตกเอราวัณ เป็นน้ำตกที่มีระยะทางยาวประมาณ 1,500 เมตร ซึ่งแบ่งออกเป็นชั้นๆ ได้ 7 ชั้น เป็นน้ำตกขนาดใหญ่ เดิมมีชื่อว่า น้ำตกสะด่องม่องลาย ตามชื่อลำห้วยม่องล่าย ซึ่งเป็นต้นน้ำของน้ำตกที่เกิดจากยอดเขา ตาม่องล่าย ในเทือกเขาสลอบ แต่ละชั้นมีความสวยงามร่มรื่นไปด้วยแมกไม้นานาพันธุ์ ทั้งเถาวัลย์พันเกี่ยวทอดตัวไปบนต้นไม้ใหญ่ กล้วยไม้ป่าหลากชนิด สายธารน้ำที่ไหลตกลดหลั่นลงมาบนโขดหินสู่แอ่งน้ำเบื้องล่าง เสียงสาดซ่าคลอเคล้าด้วยเสียงเพรียกของนกป่า ทำให้สภาพความเป็นธรรมชาติสมบูรณ์ยิ่งขึ้น นับเป็นบรรยากาศที่เรียกเอาความมีคุณค่าของป่าเขาลำเนาไพรซึมซับเข้าสู่อารมณ์ของผู้ใฝ่ความสันโดษ และรักธรรมชาติโดยแท้จริง ในชั้นที่ 7 อันเป็นชั้นบนสุดของน้ำตกลักษณะของน้ำตกชั้นที่ 7 ลักษณะสายน้ำไหลบ่า มองดูคล้ายกับหัวช้างเอราวัณซึ่งมี 3 หัว จึงเป็นที่มาของ “น้ำตกเอราวัณ”
นักท่องเที่ยวที่เดินทางมาด้วยความเหน็ดเหนื่อย เมื่อย่างก้าวมาถึง สิ่งที่รู้สึกได้ คือ บรรยากาศที่เย็นสบายจะทำให้หายเหนื่อยเป็นปลิดทิ้ง และยิ่งเห็นน้ำตกเมื่อไหร่ทุกคนต้องตะลึงในความงามของตัวน้ำตกที่มีสายน้ำใสสะท้อนแสงเป็นสีเขียวมรกต มองเห็นถึงพื้นดิน อีกทั้งใต้น้ำจะมองเห็นฝูงปลาแหวกว่ายไปมาใต้ผืนน้ำ ต้นน้ำตกเอราวัณไหลมาจากเทือกเขาหินปูนจึงมีสารละลายของแคลเซียมคาร์บอเนต เจือปนอยู่ ซึ่งแคลเซียมคาร์บอเนตนี้จะตกตะกอนในบริเวณที่มีน้ำไหลช้า หรือเป็นแอ่งน้ำ ทำให้ชั้นน้ำตกมีคราบหินปูนก่อตัว และหินปูนนี้สามารถละลายน้ำได้ดี เมื่ออยู่ในรูปของสารละลายก็สามารถตกตะกอนได้ น้ำตกหินปูนจึงมีน้ำใสในตอนบน และมีการตกตะกอนขุ่นในช่วงล่างของธารน้ำ เมื่อแสงส่องลงมาจะ ทำให้สะท้อนเป็นสีฟ้า หรือสีเขียวมรกตอย่างที่เห็น
น้ำตกเอราวัณ มีทั้งหมด 7 ชั้น ชั้นที่ 1 ชื่อว่า “ไหลคืนรัง” อาจจะเป็นเพราะน้ำตกชั้นนี้มีปลาอาศัยอยู่เป็นจำนวนมากก็เป็นได้ โดยเฉพาะ “ปลาพลวง” ซึ่งเป็นปลาน้ำจืดในตระกูลปลาตะเพียน ลำตัวมีสีน้ำตาลเขียว ปลาเหล่านี้ชอบอาศัยบริเวณธารน้ำตก ลำห้วย หรือธารน้ำที่ใสสะอาดมีพื้นเป็นกรวด หรือทราย ซึ่งปลาพลวงชอบจะอาศัยอยู่ในน้ำใสสะอาดมากกว่า
ชั้นที่ 2 ชื่อ “วังมัจฉา” มีความสวยงามของม่านน้ำตกที่เบื้องหลังสายน้ำตกที่ตกลงมากระเซ็นเป็นฝอยนั้นมี ผาลึกเข้าไปเล็กน้อย โดยนักท่องเที่ยวสามารถเข้าไปหลังม่านน้ำตกนี้ได้
ชั้นที่ 3 “ผาน้ำตก” น้ำตกตกลงมาจากผาชันดังชื่อของน้ำตกชั้นนี้ว่า “ผาน้ำตก”
ชั้นที่ 4 “อกผีเสื้อ” ที่มีชื่อเช่นนี้ก็คงเพราะรูปร่างของหินที่อยู่ในน้ำตกชั้นนี้ มองดูคล้ายอกของผู้หญิง หรือถ้าเป็นอกผีเสื้อก็คงเป็นอกผีเสื้อสมุทร ที่มีน้ำตกไหลครอบคลุมหินกลมมน ก้อนใหญ่ 2 ก้อนดูแล้วนิ่มนวลสวยงามมาก
ชั้นที่ 5 “เบื่อไม่ลง” ด้วยลักษณะของน้ำที่ไหลตกลงมาตามชั้นหินเตี้ยๆ หลายๆ ชั้น บวกกับน้ำที่มีสีฟ้าเขียวทำให้เกิดความสวยงามน่าหลงใหลเป็นอย่างยิ่ง
ชั้นที่ 6 “ดงพฤกษา” ซึ่งอุดมไปด้วยแมกไม้นานาพันธุ์แต่ดูไม่รกทึบ
และชั้น 7 “ภูผาเอราวัณ” ที่ได้ชื่อเช่นนี้เนื่องมาจากว่าเมื่อน้ำตกไหลบ่าผ่านผา และชั้นหินบนภูเขามองดูจากระยะไกลคล้ายกับหัวช้างเอราวัณ ซึ่งมี 3 หัว จึงเป็นที่มาของชื่อน้ำตกชั้นที่ 7 และเป็นชื่อของอุทยานแห่งชาตินี้ด้วย
หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเอราวัณ กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมา อุทยานแห่งชาติเอราวัณ มีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทย และนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเดินทางมาเป็นจำนวนมาก ทำให้รายได้จากการจัดเก็บในปีที่ผ่านมามากกว่า 40 ล้านบาท มากเป็นอันดับ 2 ของประเทศ และถึงแม้นักท่องเที่ยวจะเพิ่มขึ้น แต่ธรรมชาติก็ยังคงเดิม จึงถือว่าประสบผลสำเร็จเป็นอย่างมาก แต่อย่างไรก็ตาม ขณะนี้อยู่ระหว่างช่วงรณรงค์เที่ยวอุทยานแห่งชาติเอราวัณ งดใส่บิกินี การรณรงค์เริ่มเป็นผล เนื่องจากนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเริ่มรู้ และเข้าใจมากขึ้น อีกทั้งขอให้นักท่องเที่ยวอย่าให้อาหารแก่ลิงอย่างเด็ดขาด เนื่องจากอาจจะได้รับอันตรายได้