xs
xsm
sm
md
lg

แผนเสริมทรายชายหาดพัทยาใกล้ได้ข้อยุติ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศูนย์ข่าวศรีราชา - กรมทรัพย์ หวั่นปัญหากัดเซาะชายหาดรุนแรง จัดเวทีระดมความคิด แลกเปลี่ยนความรู้ และแนวทางการแก้ไขปัญหาในพื้นที่จังหวัดชลบุรี เพื่อรวบรวมข้อมูลขยายแนวทางแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรม และเสนอแผนป้องกันในภูมิภาคอื่น ขณะที่เมืองพัทยาชี้แผนเสริมทรายชายหาดใกล้ได้ข้อยุติ

จากกรณีที่ปัจจุบัน ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งของประเทศมีความรุนแรงมายิ่งขึ้นตามลำดับ สร้างความเสียหายต่อการท่องเที่ยวทางทะเล เศรษฐกิจ และความมั่นคงของคนในพื้นที่ รวมถึงการสูญเสียระบบนิเวศทางทะเลและความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรทางทะเล กรมเจ้าท่าจึงได้ร่วมกับกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง จัดเวทีระดมความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์การจัดการการกัดเซาะชายฝั่ง และมุมมองกรณีศึกษาการจัดการชายฝั่งแบบบูรณาการ ณ โรงแรมเดอะซันบีช ริมหาดนาจอมเทียน จ.ชลบุรี จากผู้นำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิ ตัวแทนจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ผู้แทนท้องถิ่น และประชาชนในชุมชนในพื้นที่เสี่ยงต่อปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง เข้าร่วมเพื่อนำข้อมูลองค์ความรู้ แนวทางสำหรับการจัดการปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเลไปถ่ายทอดและทำการแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรม และขยายไปยังพื้นที่อื่นๆ โดยจะรวบรวมเสนอแผนในการของบประมาณในการแก้ไขจากรัฐบาลต่อไป

น.ส.สุทธิลักษณ์ ระวิวรรณ รองอธิบดีกรรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวว่า ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องทั่วประเทศในหลายปัจจัยทั้งทางภัยธรรมชาติ และสิ่งที่มนุษย์ก่อขึ้น ซึ่งนับวันจะทวีความรุนแรงมากขึ้น โดยภาพรวมนั้นประเทศไทยมีแนวชายหาดรวมพื้นที่ 3,100 กม.และมีปัญหา 830 กม.หรือ 26% ของทั้งหมด จึงต้องดำเนินการหามาตรการแก้ไขและป้องกันอย่างเร่งด่วน ด้วยการประชาคมร่วมกับผู้รู้ ผู้ชำนาญการ และชาวบ้านเพื่อหาแผนแม่บทในการแก้ไขปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพในเวลาอันใกล้

สำหรับจังหวัดชลบุรีมีพื้นที่ชายฝั่งเป็นแนวยาวทั้งสิ้น 171 กิโลเมตร ซึ่งจากผลการศึกษาพบว่า มีชายฝั่งที่ประสบปัญหาการกัดเซาะ 25 กิโลเมตร ซึ่งแต่เดิมชายหาดถูกจะกัดเซาะเฉลี่ยเพียง 0.8 กิโลเมตร/ปี แต่ปัจจุบัน ชายหาดถูกกัดเซาะไปถึง 1.8 กิโลเมตร/ปี สร้างความสูญเสียรายได้จาการท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก จังหวัดชลบุรีจึงได้เร่งแก้ไขปัญหา โดยเลือกใช้วิธีการจัดการชายฝั่งแบบบูรณาการ โดยให้ผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนทำการลงนาม MOU ในการกำหนดยุทธศาสตร์ในการแก้ไขปัญหาให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน

ขณะที่นายอนุวัตร เหล่าทองคำ ตัวแทนจากเมืองพัทยา กล่าวว่า เมืองพัทยาเองก็ประสบปัญหาการกัดเซาะเช่นกัน โดยเฉพาะชายหาดพัทยาซึ่งเป็นจุดขายหลักทางการท่องเที่ยว โดยพบว่าในปี 2549 นั้น ชายหาดมีความกว้าง 35 เมตร แต่ปัจจุบัน ถูกกัดเซาะเฉลี่ยปีละกว่า 7.8 เมตร หรือสูญเสียทรายไปกว่า 10,000 ลบ.ม./ปี จึงทำให้เหลือความกว้างของหาดเพียงไม่ถึง 5 เมตรเท่านั้น ตลอดแนว 2.7 กม.และหากปล่อยไว้ต่อไปในระยะเวลาอีก 5 ปี เมืองพัทยาก็จะไม่มีชายหาดหลงเหลืออยู่

เรื่องนี้จึงได้ร่วมกับกรมเจ้าท่า ในการว่าจ้างสถาบันวิจัยทางน้ำจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เข้ามาศึกษาและวางแผนแม่บทในการแก้ไขและป้องกัน ซึ่งปัจจุบันขั้นตอนดังกล่าวถือว่าเสร็จสมบูรณ์แล้ว ทั้งนี้ อยู่ระหว่างกรมเจ้าท่าซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบดูแลชายฝั่ง เสนอเรื่องขอจัดสรรงบประมาณดำเนินการจากภาครัฐ ซึ่งคาดว่าจะใช้เงินประมาณ 450 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของเมืองพัทยาในฐานะเจ้าของพื้นที่ก็ได้ช่วยผลักดันให้มีการนำโครงการเสนอต่อสำนักงานสิ่งแวดล้อมเพื่อขอความเห็นชอบ และช่วยประสานในการของบประมาณอีกทางหนึ่ง เนื่องจากเห็นว่าเป็นเรื่องเร่งด่วน โดยที่ผ่านมา ก็ได้นำเสนอต่อที่ประชุม ครม.สัญจรไปแล้ว รอเพียงผลการพิจารณาอนุมัติเท่านั้น

ด้าน ศ.ดร.ธนวัฒน์ จารุพงษ์สกุล หัวหน้าโครงการวิจัยฯ กล่าวว่า โครงการเสริมทรายชายหาดเมืองพัท ยานั้นทางสถาบันฯ ได้ศึกษาออกแบบเสร็จสิ้นแล้ว รวมทั้งการศึกษาออกแบบขั้นดีเทลดีไซน์ ซึ่งเมืองพัทยาถือเป็นเมืองแรกที่มีการจัดทำการดำเนินการจึงมีความจำเป็นที่จะต้องว่าจ้างผู้เชี่ยวชาญในการดำเนินการโดยเฉพาะ

ส่วนวิธีการเสริมทรายนั้นจะใช้วิธีการที่หลายประเทศทั่วโลกนิยมนำมาดำเนินการ โดยทำการเสริมทรายมาเติมลงบนชายหาดให้มีความกว้าง 35 เมตร พร้อมนำถุงทรายมากันแนวไว้ในระยะ 15 เมตรจากแนวชายฝั่ง ตลอดความยาวของชายหาด ซึ่งวิธีนี้ชายหาดจะถูกน้ำกัดเซาะในอัตรา 1.8 เมตรต่อปี และจะสามารถอยู่ในภาพนี้ได้ในระยะเวลา 10-15 ปี
กำลังโหลดความคิดเห็น