xs
xsm
sm
md
lg

นักวิจัย มข.ชูวิจัยน้ำมันชีวภาพสร้างความมั่นคงพลังงาน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รองศาสตราจารย์ ดร.เฉลิม เรืองวิริยะชัย หัวหน้าโครงการวิจัย “กระบวนการผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพสำหรับยานยนต์” นำเสนอผลงานวิจัย
ศูนย์ข่าวขอนแก่น - นักวิจัย ม.ขอนแก่นโชว์ผลงานวิจัยแปรรูปน้ำมันปาล์มเป็นเชื้อเพลิงชีวภาพ ทั้งน้ำมันไบโอเจ็ต ไบโอดีเซล และเบนซิน ชูคุณสมบัติเด่นเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ทดแทนเชื้อเพลิงจากฟอสซิลได้ทันที เล็งต่อยอดงานวิจัยหวังลดต้นทุนผลิต พร้อมให้ความร่วมมือกับผู้ผลิตน้ำมันที่สนใจใช้เชิงพาณิชย์ เชื่อทดแทนพลังงานจากฟอสซิลที่กำลังจะหมดลงใน 30 ปี สร้างความมั่นคงพลังงานประเทศในอนาคต

วันนี้ (30 ต.ค.) มหาวิทยาลัยขอนแก่นจัดแถลงข่าวนักวิจัย มข.พบสื่อมวลชน ประจำเดือนตุลาคม 2555 เรื่อง “การผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพสำหรับยานยนต์” โดยมีรองศาสตราจารย์ ดร.เฉลิม เรืองวิริยะชัย อาจารย์ประจำภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในฐานะหัวหน้าโครงการวิจัย นำเสนอผลงานวิจัย ณ ห้องประชุมสิริคุณากร 4 ชั้น 2 อาคารสิริคุณากร สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยขอนแก่น

รองศาสตราจารย์ ดร.เฉลิม เรืองวิริยะชัย หัวหน้าโครงการวิจัย “กระบวนการผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพสำหรับยานยนต์” กล่าวว่า ปัจจุบันกระแสรักษ์โลกและประหยัดพลังงานมีการรณรงค์ไปทั่วโลก

เบื้องตันองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (International Civil Aviation Organization, ICAO) กำหนดให้ภายในปี 2555 นี้เครื่องบินทุกลำที่บินผ่านน่านฟ้ายุโรปต้องใช้หรือผสมน้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพสำหรับเครื่องบิน หรือน้ำมันไบโอเจ็ต (Biojet fuel) ซึ่งเป็นน้ำมันผลิตจากพืชหรือสัตว์ เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ปัจจุบันมีสายการบินที่ทดสอบการใช้หรือผสมน้ำมันไบโอเจ็ตแล้ว ได้แก่ สายการบิน Virgin Atlantic และสายการบิน Continental Airline จากสหรัฐอเมริกา, สายการบิน Air New Zealand จากประเทศนิวซีแลนด์, สายการบิน KLM สายการบินแห่งชาติเนเธอร์แลนด์, สายการบิน Japan Airline จากประเทศญี่ปุ่น รวมถึงสายการบิน Thai Airways จากประเทศไทย

รศ.ดร.เฉลิมกล่าวต่อว่า โครงการวิจัยนี้ได้เลือกใช้น้ำมันปาล์มเป็นวัตถุดิบหลักในงานวิจัย เนื่องจากเป็นพืชน้ำมันที่หาได้ง่าย ปลูกมากในประเทศไทยและหลายประเทศทั่วโลก ทั้งต้นทุนวัตถุดิบยังต่ำกว่าพืชน้ำมันชนิดอื่นๆ ที่มีอยู่ขณะนี้ โดยจะนำน้ำมันปาล์มโอเลอินมาผ่านกระบวนการไฮโดรแครกกิ้ง ใช้ตัวเร่งปฏิกิริยากำจัดน้ำออกไป จะได้ผลิตภัณฑ์น้ำมันดิบชีวภาพสีดำเข้ม มีคุณลักษณะเหมือนกับน้ำมันดิบจากฟอสซิลทั่วไปที่ยังไม่ผ่านการกลั่น

จากนั้นจะนำน้ำมันดิบชีวภาพมาผ่านการกลั่นที่อุณหภูมิต่างๆ 100-350 องศาเซลเซียส ทำให้ได้น้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับอุณหภูมิที่ใช้ เวลาทำปฏิกิริยา ชนิดของตัวเร่งปฏิกิริยา ปริมาตรและความดันของก๊าซไฮโดรเจน ชนิดของโลหะบนตัวเร่งปฏิกิริยา รวมทั้งความดันที่เกิดขึ้น โดยจะได้ผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพ ประกอบด้วย น้ำมันไบโอเจ็ต น้ำมันไบโอดีเซล และน้ำมันเบนซิน

รศ.ดร.เฉลิมกล่าวต่อว่า ผลิตภัณฑ์น้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพที่ได้จากงานวิจัยนี้สามารถใช้กับเครื่องยนต์ดีเซล เบนซิน และเครื่องยนต์เครื่องบินพาณิชย์ได้อย่างเหมาะสม ตอบโจทย์ความต้องการใช้พลังงานในอนาคตได้ ซึ่งโดยภาพรวมต้นทุนผลิตในขั้นตอนวิจัยยังสูงมาก แต่หากเพิ่มสเกลการผลิตน่าจะลดต้นทุนได้เหมาะต่อการผลิตในเชิงอุตสาหกรรมได้

นักวิจัยพร้อมให้ความร่วมมือกับบริษัทผู้ผลิตน้ำมันที่สนใจงานวิจัยชิ้นนี้ไปปรับใช้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ในเชิงพาณิชย์ อย่างไรก็ตาม คณะนักวิจัยยังสามารถต่อยอดงานวิจัยในการวิจัยหาวัตถุดิบตัวเร่งปฏิกิริยาซึ่งมีราคาที่สูงมาก หากสามารถหาวัตถุดิบในประเทศและผ่านการทดลองอย่างเหมาะสม น่าจะสามารถลดต้นทุนผลิตลงได้มาก

ด้านศาสตราจารย์นายแพทย์สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและการถ่ายทอดเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า การใช้เชื้อเพลิงชีวภาพ มีความจำเป็นที่จะนำมาปรับใช้ในยานยนต์และอุตสาหกรรมการผลิตของโลก เนื่องจากน้ำมันจากซากฟอสซิลกำลังจะหมดไปภายในระยะเวลา 30 ปีหรือเร็วกว่านั้น ซึ่งจะเกิดผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการผลิต การคมนาคมขนส่ง รวมถึงการดำเนินชีวิตประจำวันด้วย

ที่สำคัญ วัตถุดิบที่ใช้ในงานวิจัย คือน้ำมันปาล์ม เป็นพืชวัตถุดิบที่ปลูกมากในไทย โดยเฉพาะพื้นที่ภาคอีสาน เริ่มปลูกมากที่จังหวัดหนองคายและพื้นที่ตามลำน้ำโขง พื้นที่ภาคอีสานจะสามารถปลูกพลังงานบนดินได้ หากนำผลวิจัยไปขยายสเกลการผลิตจำนวนมากเชิงอุตสาหกรรม เชื่อว่าจะทำให้ราคาเชื้อเพลิงชีวภาพไม่ต่างจากเชื้อเพลิงฟอสซิล ในอนาคตจะสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้ประเทศ

น้ำมันดิบชีวภาพ มีคุณสมบัติไม่ต่างจากน้ำมันดิบจากฟอสซิล
ผลิตภัณฑ์น้ำมันชีวภาพที่ได้จากผลงานวิจัย
น้ำมันปาล์ม วัตถุดิบที่นำมาผ่านกระบวนการไฮโดรแคร็กกิ้ง
ศาสตราจารย์นายแพทย์สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและการถ่ายทอดเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยขอนแก่น
รองศาสตราจารย์ ดร.เฉลิม เรืองวิริยะชัย หัวหน้าโครงการวิจัย “กระบวนการผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพสำหรับยานยนต์”

กำลังโหลดความคิดเห็น