ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - เชียงใหม่ระดมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประชุมแผนขึ้นทะเบียนผู้ปลูกข้าวปี 55/56 ผู้ว่าฯ ย้ำเร่งเดินหน้าขึ้นทะเบียนตามแผนรับจำนำ พร้อมเตือนเจ้าหน้าที่ระวังการสวมสิทธิ-ทุจริต
วันนี้ (29 ต.ค.) นายธานินทร์ สุภาแสน ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานในการประชุมชี้แจงการตรวจสอบพื้นที่และข้อมูลขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2555/56 ณ โรงแรมเชียงใหม่ภูคำ โดยมีนายสมพล แสนคำ เกษตรจังหวัดเชียงใหม่ พร้อมด้วยหัวหน้ากลุ่ม เกษตรอำเภอ นักวิชาการส่งเสริมการเกษตร และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม
การประชุมในครั้งนี้จัดขึ้นเพื่อชี้แจงให้เกษตรอำเภอ เกษตรตำบล นักวิชาการส่งเสริมการเกษตร และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ได้มีความเข้าใจถึงหลักเกณฑ์และวิธีการขึ้นทะเบียนให้เกษตรกรผู้ปลูกพืชเศรษฐกิจหลัก 3 ชนิด ซึ่งประกอบด้วยข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และมันสำปะหลัง ตามนโยบายของรัฐบาลที่มอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมส่งเสริมการเกษตรทำหน้าที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกพืชเศรษฐกิจหลักทั้ง 3 ชนิด ปี 2555/56
สำหรับข้อมูลที่ได้จากการขึ้นทะเบียนจะใช้ในการจัดทำฐานข้อมูล เพื่อออกใบรับรองให้แก่เกษตรกรได้ใช้เป็นหลักฐานในการเข้าร่วมโครงการความช่วยเหลือของรัฐบาล โดยเฉพาะในโครงการจำนำข้าวเปลือกนาปี ปี 2555/56 ขณะเดียวกันยังเป็นการตรวจสอบข้อมูลให้ถูกต้องตรงตามความเป็นจริง เพื่อป้องกันการทุจริตในการเข้าร่วมโครงการรับจำนำอีกด้วย
ในการประชุมดังกล่าว ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ได้มอบนโยบายให้เจ้าหน้าที่ในสังกัดกระทรวงเกษตรฯ เข้าร่วมการประชุม โดยระบุว่าขอให้เจ้าหน้าที่เร่งดำเนินการขึ้นทะเบียนให้เกษตรกรในช่วงของโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี ปี 2555/56 เพื่อรองรับปริมาณผลผลิตจำนวนมากที่จะเข้าสู่ระบบการรับจำนำ เนื่องจากเจ้าหน้าที่ของกระทรวงเกษตรฯ ถือเป็นเจ้าหน้าที่กลุ่มแรกที่จะต้องรับรู้รับทรายข้อมูลเกี่ยวกับเกษตรกร และรายงานข้อมูลเหล่านั้นมายังผู้ปฏิบัติงาน
ขณะเดียวกันยังขอให้ตรวจสอบข้อมูลการขึ้นทะเบียนของเกษตรกรให้ถูกต้อง พร้อมทั้งดูแลไม่ให้มีการสวมสิทธิหรือทุจริตใดๆ เกิดขึ้นได้ โดยขอให้ตรวจสอบข้อมูลต่างๆ อย่างละเอียดในทุกขั้นตอน
ขณะเดียวกัน นอกเหนือจากโครงการรับจำนำข้าวที่กำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้ ยังมีโครงการอื่นๆ ที่กำลังจะเริ่มดำเนินการ อาทิ กรณีของข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ซึ่งมีรายงานมายังจังหวัดว่าเกษตรกรบางส่วนในพื้นที่ อ.แม่แจ่ม อ.เชียงดาว และ อ.แม่อาย เริ่มไม่พอใจต่อราคาผลผลิตที่ได้รับและเตรียมที่จะเคลื่อนไหวแล้ว
ดังนั้น จังหวัดจึงต้องขอฝากให้เจ้าหน้าที่ของกระทรวงเกษตรฯ ได้เข้าไปรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องและแจ้งมายังทางจังหวัดเพื่อประสานหาแนวทางแก้ไข โดยจังหวัดเชียงใหม่ได้ตั้งเป้าไว้ว่าความเดือดร้อนของเกษตรกร ซึ่งถือเป็นคนกลุ่มใหญ่กว่าร้อยละ 80 ของจังหวัดจะต้องได้รับการแก้ไขอย่างทันท่วงทีหากเกิดปัญหา
ทั้งนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ยังกล่าวต่อที่ประชุมด้วยว่า ต่อไปในระยะยาวจังหวัดเชียงใหม่คาดหวังที่จะเห็นการสำรวจข้อมูลเกษตรกรจากกระทรวงเกษตรฯ ว่ามีเกษตรกรในระดับใดอยู่ในพื้นที่บ้าง เพื่อนำข้อมูลที่ได้มาใช้ในการกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาเกษตรกรในแต่ละกลุ่มให้สามารถมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้
ยุทธศาสตร์ด้านการเกษตรซึ่งมีกำหนดจะแล้วเสร็จในเดือน ธ.ค.ที่จะถึงนี้ ถือเป็นอีกแผนงานสำคัญที่จังหวัดจะได้ดำเนินการ และประกาศเป็นวาระของจังหวัดต่อจากนี้ไป
ยุทธศาสตร์ดังกล่าวจะมุ่งเน้นที่การพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกร เช่นการนำวัตถุดิบของเกษตรกรที่ผลิตได้มาเพิ่มคุณค่าหรือแปรรูปเพื่อสร้างราคา รวมทั้งการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับการก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ในอนาคต
นายสมพล แสนคำ เกษตรจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวถึงการดำเนินการรับจำนำข้าวในส่วนของจังหวัดเชียงใหม่ว่า ขณะนี้ได้เน้นย้ำให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องขึ้นทะเบียนกับคนที่เป็นชาวนาจริงๆ อย่าปล่อยปละละเลยให้มีผู้สวมรอยมาขอขึ้นทะเบียน อย่างไรก็ตาม ยังไม่พบว่ามีการลักลอบสวมสิทธิในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่แต่อย่างใด รวมทั้งขอให้ดำเนินการตามขั้นตอนต่างๆ อย่างถูกต้องและเคร่งครัด
ปัจจุบันมีเกษตรกรที่มาขึ้นทะเบียนผู้ปลูกข้าวจำนวน 49,622 ราย พื้นที่จำนวน 423,321 ไร่ คาดว่าจะได้รับผลผลิตข้าวเปลือกจำนวน 261,443.68 ตัน ส่วนการลงทะเบียนจะสิ้นสุดลงในช่วงสิ้นเดือน ต.ค.นี้
ด้านนายธานินทร์ สุภาแสน ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า จากการตรวจสอบข้อมูลการดำเนินการรับจำนำข้าว พบว่าปัญหาที่เกษตรกรประสบมากที่สุดคือความไม่สะดวกในการนำข้าวมาจำนำที่โรงสีหรือจุดรับซื้อ ซึ่งเป็นผลมาจากการที่ข้าวมีปริมาณมากและจุดรับซื้อยังมีปริมาณไมเพียงพอ ซึ่งทางคณะกรรมการนโยบายข้าวจังหวัดได้เตรียมที่จะพิจารณาเปิดจุดรับซื้อเพิ่มเติมในพื้นที่ที่มีความต้องการหรือมีปริมาณข้าวสูงแล้ว