xs
xsm
sm
md
lg

ชาวอีสานส่วนใหญ่ยังไม่เคยไปชม “บั้งไฟพญานาค” เกินครึ่งเชื่อเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เทศกาลออกพรรษาทุกปี นักท่องเที่ยวจำนวนมากต่างไปนั่งลุ้นดูบั้งไฟพญานาคที่จังหวัดหนองคายและบึงกาฬ
ศูนย์ข่าวขอนแก่น - อีสานโพล เผยผลสำรวจ “ทัศนคติของชาวอีสานต่อการท่องเที่ยวช่วงเทศกาลออกพรรษา และความเชื่อเรื่องปรากฏการณ์บั้งไฟพญานาค” พบกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ไม่ได้วางแผนท่องเที่ยวช่วงเทศกาลออกพรรษา และส่วนใหญ่เชื่อว่าบั้งไฟพญานาคเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติ คาดมีเงินสะพัดในภาคอีสานช่วงดังกล่าวกว่า 700 ล้านบาท จากการเดินทางเที่ยวชมบั้งไฟพญานาค

วันนี้ (26 ต.ค.) ดร.สุทิน เวียนวิวัฒน์ หัวหน้าโครงการอีสานโพล คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) เปิดเผยถึงผลสำรวจความคิดเห็นของคนอีสานต่อการท่องเที่ยวช่วงเทศกาลออกพรรษา และความเชื่อเรื่องปรากฏการณ์บั้งไฟพญานาค โดยทำการสำรวจระหว่างวันที่ 20-23 ต.ค. ที่ผ่านมา จากกลุ่มตัวอย่าง 774 ราย ในเขตพื้นที่ภาคอีสาน 20 จังหวัด พบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ กว่าร้อยละ 63.2 ไม่ได้วางแผนท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลออกพรรษา รองลงมาร้อยละ 20.4 วางแผนจะไปเที่ยวชมปรากฏการณ์บั้งไฟพญานาค ที่จ.หนองคาย และบึงกาฬ อีกร้อยละ 6.8 วางแผนเที่ยวงานไหลเรือไฟ ที่จ.นครพนม

ขณะที่ร้อยละ 6.4 วางแผนจะไปเที่ยวชมงานแห่ปราสาทผึ้ง ที่จ.สกลนคร และร้อยละ 3.3 วางแผนจะเที่ยวชมประเพณีออกพรรษาในพื้นที่อื่นๆ เช่น บุรีรัมย์ เชียงคาน รวมทั้งเดินทางไปทำบุญยังวัดต่างๆ

เมื่อถามถึงประสบการณ์การชมปรากฏการณ์บั้งไฟพญานาค กลุ่มตัวอย่างชาวอีสานส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 46.3 ยังไม่เคยไปชม แต่ต้องการไปชมหากมีโอกาส รองลงมาร้อยละ 28.7 เคยชมปรากฏการณ์ดังกล่าวแล้ว และต้องการจะไปชมอีก มีเพียงร้อยละ 15.2 ที่ไม่เคยไปชม และไม่คิดว่าจะไปชม และอีกร้อยละ 9.8 เคยไปชม แต่ไม่คิดที่จะไปชมอีกครั้ง

ซึ่งจากการสำรวจพบว่า นักท่องเที่ยวที่ไปชมปรากฏการณ์บั้งไฟพญานาคที่จังหวัดหนองคาย และบึงกาฬมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยที่ประมาณ 2,380 บาท/คน ดังนั้น หากมีนักท่องเที่ยวเดินทางไปเฝ้าชมประมาณ 3 แสนคน คาดการณ์ว่าจะมีการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวประมาณ 700 ล้านบาทในเขตภาคอีสาน

ทั้งนี้ อีสานโพลได้ถามต่อถึงความเชื่อถึงปรากฏการณ์บั้งไฟพญานาค ว่าเกิดจากสาเหตุใด กลุ่มตัวอย่างชาวอีสานส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 60.8 เชื่อว่าเป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ รองลงมาร้อยละ 24.7 เชื่อว่าเป็นปรากฏการณ์เหนือธรรมชาติ ตามตำนานที่ว่ามีพญานาคจุดบั้งไฟบูชาพระพุทธเจ้า มีเพียงร้อยละ 12.5 ที่เชื่อว่าเป็นฝีมือของมนุษย์ที่ทำขึ้นเพื่อถวายเป็นพุทธบูชา และไม่แน่ใจ อีกร้อยละ 1.9

เมื่อถามถึงประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากปรากฏการณ์ดังกล่าว กลุ่มตัวอย่างชาวอีสานส่วนใหญ่ กว่าร้อยละ 45.5 เห็นว่า ก่อให้เกิดเงินสะพัดจากการท่องเที่ยว รองลงมาร้อยละ 33.3 เห็นว่า เป็นการสืบสานประเพณีอันดีงาม ร้อยละ 20.8 เห็นว่า พุทธศาสนิกชนจะตื่นตัวในการเข้าวัดทำบุญ และฟังธรรมมากขึ้น และความเห็นอื่นๆ อีกร้อยละ 0.4

ดร.สุทิน กล่าวว่า จากผลการสำรวจครั้งนี้ทำให้เห็นว่า ในเทศกาลออกพรรษา ชาวอีสานส่วนใหญ่เลือกที่จะไม่ออกไปท่องเที่ยวงานประเพณีเนื่องจากไม่ใช่วันหยุดยาว ซึ่งบางส่วนอาจเพียงเดินทางไปทำบุญ และฟังธรรมที่วัดใกล้บ้านเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ปรากฏการณ์บั้งไฟพญานาคที่จังหวัดนองคาย และบึงกาฬก็ยังได้รับความสนใจไม่น้อย

โดยยังมีชาวอีสานอีกจำนวนมากที่ยังไม่เคยไปชมปรากฏการณ์ และต้องการไปชมหากมีโอกาส ซึ่งความเชื่อต่อปรากฏการณ์ดังกล่าว ชาวอีสานส่วนใหญ่เชื่อว่าเป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ

แต่ยังมีกลุ่มตัวอย่างกว่า 1 ใน 4 ที่เชื่อตามตำนานว่าเป็นการกระทำโดยพญานาค นอกจากนี้ ปรากฏการณ์ดังกล่าวยังก่อให้เกิดเงินสะพัดในพื้นที่ภาคอีสานจากการท่องเที่ยว โดยคาดว่าจะมีเงินสะพัดกว่า 700 ล้านบาท ซึ่งจะทำให้เกิดการกระจายรายได้ในภาคอีสานในช่วงเทศกาลนี้
อย่างไรก็ตามชาวอีสานจำนวนไม่น้อยที่ยังไม่เคยเดินทางไปชมบั้งไฟพญานาค ทั้งยังมีชาวอีสานจำนวนมากพอสมควรที่เชื่อว่าลูกไฟที่ผุดขึ้นจากลำน้ำโขงนั้นเป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ
กำลังโหลดความคิดเห็น