นครปฐม - ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จันทร์จิรา วงษ์ขมทอง อธิการบดีมหาวิทยาลัยคริสเตียน ได้รับคัดเลือกเป็น “บุคคลคุณภาพแห่งปี 2012” โดยมูลนิธิสภาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (มสวท.) ให้ได้รับโล่เกียรติยศ “บุคคลตัวอย่างภาคธุรกิจแห่งปี 2012 ภาคธุรกิจสถาบันการศึกษา”จาก ฯพณฯ พล.อ.พิจิตร กุลละวณิชย์ องคมนตรี
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จันทร์จิรา วงษ์ขมทอง อธิการบดีมหาวิทยาลัยคริสเตียน เป็นบุคคลตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จอย่างสูง ทั้งด้านหน้าที่การงาน และด้านชีวิตส่วนตัว หลังจากที่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอก (Ph.D.in Community Health) จาก Texas Woman’s University สหรัฐอเมริกา และทำงานอยู่ในต่างประเทศกว่า 10 ปี ได้รับรางวัล “Outstanding Women of Texas” ก่อนที่จะเดินทางกลับมาพัฒนาการศึกษาในประเทศไทย โดยได้รับแต่งตั้งจากมูลนิธิแห่งสภาคริสตจักรในประเทศไทย ให้ดำรงตำแหน่งอธิการบดีวิทยาลัยคริสเตียนตั้งแต่ปี 2534 และอธิการบดีมหาวิทยาลัยคริสเตียนในปี 2544 จนถึงปัจจุบัน
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จันทร์จิรา วงษ์ขมทอง ได้เป็นผู้ริเริ่มนวัตกรรมทางการศึกษาในหลายรูปแบบ เช่น การสร้างนวัตกรรมด้านการจัดการอุดมศึกษา การส่งเสริมการนำสื่อเทคโนโลยีสารสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) มาใช้ในการเรียนการสอนทุกรายวิชา รวมทั้งใช้ในการค้นคว้าวิจัยและบริหารจัดการ การวางระบบและดำเนินการประกันคุณภาพการศึกษา สำหรับมหาวิทยาลัยคริสเตียนตั้งแต่ปี 2540 การพัฒนาระบบโครงสร้างการบริหารจัดการของคณะวิชา และส่วนงานสนับสนุนวิชาการในสังกัด ทำให้เกิดการบริหารงานคุณภาพแบบองค์รวมทั่วทั้งองค์กร (ISO 9001:2001)
การริเริ่มนำหลักการบริหารจัดการสมัยใหม่ และการจัดหลักสูตรการศึกษาแบบสหวิทยาการ การสร้างเครือข่ายทางการศึกษาทั้งในระดับชุมชน ประเทศ และนานาชาติ การริเริ่มนโยบายสร้างมาตรฐานการให้บริการที่เป็นเลิศ การริเริ่มจัดการเรียนรายวิชาพัฒนาศักยภาพการจำและพัฒนาศักยภาพการอ่านของนักศึกษา (Speed IQ and Speed Reading) การริเริ่มการเรียนรายวิชาพัฒนาจริยธรรมสำหรับนักศึกษาระดับปริญญาตรี การสอบวัดผลสัมฤทธิ์ก่อนสำเร็จการศึกษาสำหรับนักศึกษาระดับปริญญาตรี และประเมินทักษะการใช้ภาษาอังกฤษก่อนสำเร็จการศึกษา
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จันทร์จิรา วงษ์ขมทอง ได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาการศึกษาระดับชาติ และนานาชาติหลากหลายองค์กร เช่น ได้รับการคัดเลือกเป็นนายกสมาคมมหาวิทยาลัย และวิทยาลัยคริสเตียนในภูมิภาคเอเชีย Association of Christian Universities and Colleges in Asia (ACUCA) ซึ่งในขณะที่ท่านดำรงตำแหน่งท่านได้ช่วยผลักดันความร่วมมือในการพัฒนาสถาบันในเครือข่ายมหาวิทยาลัยคริสเตียนอย่างต่อเนื่อง ท่านได้รับเลือกตั้งเป็น President of Asia Pacific Student Services Association (APPSA) ซึ่งท่านได้ให้ความสำคัญในการบูรณาการกิจกรรมพัฒนานักศึกษานอกหลักสูตรกับการเรียนการสอนเพื่อพัฒนาให้นักศึกษามหาวิทยาลัยในเครือข่ายเอเชีย และแปซิฟิกให้เกิดการเรียนที่สมบูรณ์ ปัจจุบัน ท่านดำรงตำแหน่งประธานที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Chair of Southeast Asia Council of International Association of University Presidents (IAUP) นอกจากนี้ ท่านยังเคยได้รับการคัดเลือกเป็นกรรมการในคณะกรรมการ International Quality Assurance Commission ของ IAUP
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จันทร์จิรา วงษ์ขมทอง เป็นบุคคลสำคัญที่ช่วยผลักดันการสร้างวิทยาเขตหลักของมหาวิทยาลัยคริสเตียนที่จังหวัดนครปฐม และได้ดำเนินการพัฒนาทางกายภาพของมหาวิทยาลัยฯ มาอย่างต่อเนื่อง จนมหาวิทยาลัยคริสเตียนกลายเป็นสถาบันอุดมศึกษาที่น่าอยู่อาศัย และด้วยได้เล็งเห็นความสำคัญของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นหัวใจในการพัฒนาการอุดมศึกษาในยุคปัจจุบัน เพื่อผลักดันให้เป็นมหาวิทยาลัยที่มีความทันสมัยมากด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสาร
มหาวิทยาลัยคริสเตียนเป็นสถาบันอุดมศึกษาหลักที่มีบทบาทสำคัญในการผลิตพยาบาล และบุคลากรสายวิทยาศาสตร์สุขภาพขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศไทยและได้มีการเตรียมความพร้อมเพื่อเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปี 2558 มาตั้งแต่ปี 2534 โดยได้ปรับปรุงหลักสูตรที่ใช้ภาษาไทยเป็นสื่อการเรียนการสอนในการผลิตบัณฑิตที่มีคุณลักษณะ หรือสมรรถนะ (Compentency)สากล มหาวิทยาลัยคริสเตียนเป็นสถาบันอุดมศึกษาแห่งแรกในประเทศไทยที่ใช้สมรรถนะวิชาเป็นเป้าหมายในการจัดการศึกษา (Competency-based) และการผลิตบัณฑิต
นอกจากนี้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จันทร์จิรา วงษ์ขมทอง ยังได้จัดให้มีการเรียนการสอนโดยใช้ภาษาอังกฤษเป็นสื่อการสอนสำหรับนักศึกษาทุกชั้นปี เพื่อเป็นพื้นฐานนำไปสู่การเปิดหลักสูตรนานาชาติซึ่งเป็นความสำเร็จของมหาวิทยาลัยในเวลาต่อมา เพื่อเตรียมความพร้อม และความเข้าใจเกี่ยวกับประชาคมอาเซียนมากยิ่งขึ้น มหาวิทยาลัยยังได้ส่งเสริมให้มีการเรียนรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรมอาเซียนโดยเร่งรัดสนับสนุนให้อาจารย์ไปศึกษาต่อในต่างประเทศ จัดเวทีสัมมนาวิชาการระดับปริญญาโท และระดับปริญญาเอก เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ และให้ความรู้เกี่ยวกับเซ็กเตอร์อุตสาหกรรมต่างๆ เพื่อเตรียมความพร้อมให้บัณฑิต และดุษฎีบัณฑิตที่จะออกไปเป็นผู้ประกอบการ หรือผู้บริหารให้สามารถรับมือ และมีความได้เปรียบในการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนต่อไป