ศรีสะเกษ- “ดีเอสไอ” ลุยสอบทุจริตรับซื้อหอมแดงศรีสะเกษฉาว พบหลักฐานชัด“อปท.” สวมสิทธิ์ฝากขายหอมแดงเข้าโครงการแทรกแซงราคาหอมแดงของ “อคส.” ขณะ ผอ.สืบสวนฯดีเอสไอ เชื่อ “ธ.ก.ส.” มีส่วนรู้เห็นการทุจริตเหตุให้เกษตรกรเซ็นใบถอนเงินไม่กรอกจำนวนเงิน และปล่อยให้มีการตั้งโต๊ะในธนาคารหักเงินค่าหัวคิวจากเกษตรกร ระบุมี จนท.รัฐ นักการเมืองท้องถิ่นและตัวแทนสหกรณ์ เอี่ยวโกงเตรียมออกหมายจับผู้ร่วมขบวนการฉ้อโกงเงินรัฐ
วันนี้ (21 ต.ค.) เมื่อเวลา 14.45 น. ผู้สื่อข่าวรายงานจาก จ.ศรีสะเกษว่า ที่บริเวณสำนักงานเกษตรอำเภอกันทรารมย์ จ.ศรีสะเกษ นายภูวิช ยมหา ผู้อำนวยการส่วนสืบสวนสอบสวนคดีพิเศษ กรมสอบสวนคดีพิเศษ ( DSI ) และคณะ ได้ลงพื้นที่ อ.กันทรารมย์ จ.ศรีสะเกษ เพื่อรับเรื่องร้องเรียนและทำการสอบสวนกรณีที่องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) แห่งหนึ่ง คือ เทศบาลตำบลยางชุมน้อย มีการหักเงินค่าดำเนินการรับซื้อหอมแดงจากเกษตรกร ที่นำเอาหอมแดงมาขายให้กับองค์การคลังสินค้า (อคส.) ตามโครงการแทรกแซงราคาหอมแดงของกระทรวงพาณิชย์ ปี 2554/55 โดยมีเกษตรกรนำเอาหลักฐานจำนวนมากมาร้องเรียนและมอบหลักฐานให้กับดีเอสไอ เพื่อดำเนินการตามกฎหมาย
นางอรทัย สมนึก อายุ 52 ปี อยู่บ้านเลขที่ 77/1 ม.4 บ้านทุ่งมั่ง ต.อิปาด อ.กันทรารมย์ จ.ศรีสะเกษ กล่าวว่า เมื่อวันที่ 30 ธ.ค. 2554 ตนขายหอมแดงให้กับองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น คือ เทศบาลตำบลยางชุมน้อย จำนวน 5,314 กก. ในราคา กก.ละ 19 บาท รวมเป็นเงิน จำนวน 100,966 บาท ปกติแล้วจะได้รับเงินทันที แต่ว่าผู้บริหารของ เทศบาลตำบลยางชุมน้อย คือ นายกันตนา ทองอินทร์ แจ้งว่า ขอเลื่อนการจ่ายเงินไปเป็นวันหลัง ต่อมาวันที่ 1 ม.ค. 2555 ตนได้นำเอาหอมแดงไปขายเข้าโครงการแทรกแซงราคาหอมแดงให้กับ อคส. จำนวน 4,740 กก. ราคา กก.ละ 15 บาท รวมเป็นเงิน 71,100 บาท และในวันที่ 7 ก.พ. 2555 อคส.ได้โอนเงินเข้าบัญชีธนาคาร ธ.ก.ส.ยางชุมน้อย จำนวน 71,100 บาท และวันที่ 14 ก.พ. 2555 เทศบาลฯ ได้จ่ายเงินค่าหอมแดงที่ค้างอยู่เมื่อเดือน ธ.ค. 2554 เข้าบัญชีจำนวน 63,765 บาท ขาดเงินที่ตนควรจะได้ไปจำนวน 36,000 บาท ซึ่งตนได้ไปทวงถามเงินที่ยังขาดจากผู้บริหารเทศบาลฯ อ้างว่า หักเงินไว้เพื่อเป็นค่าดำเนินการต่าง ๆ จึงเหลือเท่านี้
นางอรทัย กล่าวต่อว่า เมื่อวันที่ 4 ก.พ. 2555 ตนได้นำหอมแดงไปขายให้กับ อคส.เป็นครั้งที่ 2 จำนวน 3,933 กก. กก.ละ 15 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 59,000 บาท ในจำนวนนี้เป็นหอมแดงที่ทางสหกรณ์หอมแดงยางชุมน้อย ให้ตนรับฝากไปขายเข้าร่วมโครงการจำนวน 3 ถุง ๆ ละ 20 กก. รวมทั้งสิ้น 60 กก. ในชื่อของตน และจากการสอบถามเกษตรกรหลายคนพบว่า ทุกคนจะถูกฝากขายหอมแดงในชื่อของทุกคนที่ไปเข้าร่วมโครงการ หากเกษตรกรคนใดไม่ยอมรับฝากหอมแดงไปขายให้ ก็จะไม่ได้รับความร่วมมือในการเข้าร่วมโครงการขายหอมแดงให้กับ อคส. และในวันทำเอกสารขายหอมแดงเข้าโครงการเจ้าหน้าที่ของสหกรณ์หอมแดงแห่งหนึ่งแจ้งว่า ต้องจ่ายค่าดำเนินการให้กับสหกรณ์ กก.ละ 50 บาท ค่าเสื้อยืด 1 ตัว ราคา 250 บาท และค่าหอมแดงซึ่ง อปท.ฝากขายเข้าโครงการ จำนวน 1,080 บาท ค่าบัตรเข้าชมคอนเสิร์ต บัตรละ 150 บาท จำนวน 10 ใบ
โดยให้ตนเซ็นชื่อในใบเบิกเงินของ ธ.ก.ส.อ.ยางชุมน้อยเอาไว้ แต่ว่าไม่ต้องกรอกตัวเลขจำนวนเงินและให้มอบสมุดธนาคาร ธ.ก.ส. อ.ยางชุมน้อยของตนเอาไว้ให้กับ เจ้าหน้าที่ของสหกรณ์หอมแดงเพื่อถอนเงิน ซึ่งตนมาร้องเรียนกับ ดีเอสไอ เนื่องจากเห็นว่าเป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้องและตนต้องการเงินของตนที่ อปท.ยังค้างค่าหอมแดงที่ตนขายไปอยู่จำนวน 36,000 บาทมาให้กับตนด้วย
ทางด้าน นายภูวิช ยมหา ผู้อำนวยการส่วนสืบสวนสอบสวนคดีพิเศษ กรมสอบสวนคดีพิเศษ ( DSI ) กล่าวว่า จากการสอบสวนในเรื่องการทุจริตโครงการรับซื้อหอมแดงนี้พบหลักฐานว่า มีการสวมสิทธิ์ของเกษตรกรเพื่อขายหอมแดงให้กับ อคส. อย่างชัดเจน และการที่เกษตรกรเมื่อเข้าโครงการแทรกแซงราคาหอมแดงแล้วจะเบิกเงิน ทางเจ้าหน้าที่ อคส.ให้เกษตรกรเซ็นชื่อในใบเบิกเงินโดยไม่ได้เติมจำนวนเงินและให้ฝากสมุดบัญชีธนาคารเอาไว้ เป็นการกระทำที่ผิดซึ่งในหลักการเบิกเงินของธนาคารที่เจ้าตัวไม่ไปเบิกเงินเองแต่เซ็นชื่อทิ้งไว้แล้วเจ้าหน้าที่ของ ธ.ก.ส.สามารถเบิกเงินให้ได้
อีกทั้ง ธ.ก.ส.ปล่อยให้บุคคลกลุ่มที่มีการทุจริตโกงกินเข้าไปตั้งโต๊ะในธนาคาร ธ.ก.ส. ไปหักเงินต่าง ๆ ของชาวบ้านที่เข้าไปรับเงิน เรื่องนี้ ธ.ก.ส.ต้องรับผิดชอบที่ปล่อยให้กลุ่มที่ไปขูดรีดเกษตรกรไปหักค่าเสื้อ ค่าหอมแดง หักค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ธ.ก.ส.จะต้องรับผิดชอบว่า เพราะอะไรปล่อยให้กลุ่มพวกนี้ เข้าไปดำเนินการหักเงินได้ ธ.ก.ส.จะต้องดำเนินการสอบสวนเรื่องนี้ เพราะว่าเป็นประเด็นที่ชาวบ้านสงสัยมากว่า ทำไม ธ.ก.ส.จึงปล่อยให้พวกนี้เข้าไปตั้งโต๊ะรีดไถประชาชนซึ่งไม่ถูกต้อง
นายภูวิช กล่าวต่อไปว่า เรื่องนี้ได้เสนอในที่ประชุมของโครงการแก้ไขปัญหาการทุจริตไปแล้วครั้งหนึ่ง แต่ ธ.ก.ส.ยังเพิกเฉยไม่มีการสอบสวนแต่อย่างใดทั้งสิ้น แม้แต่การไปขอหลักฐานจาก ธ.ก.ส.ก็เป็นเรื่องยากมาก ต้องถามว่า ธ.ก.ส.ทำอะไรกันอยู่ในขณะนี้ ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องของ ธ.ก.ส.ที่อาจจะมีส่วนรู้เห็นในเรื่องการทุจริตของโครงการแทรกแซงราคาหอมแดงของ จ.ศรีสะเกษในครั้งนี้ร่วมกับหลายหน่วยงาน ซึ่ง ธ.ก.ส.ทั้ง 2 แห่งคือ ธ.ก.ส.ยางชุมน้อยและ ธ.ก.ส.กันทรารมย์ ที่ชาวบ้านมาร้องเรียนกับ ดีเอสไอ ซึ่งตนจะได้ดำเนินการสอบสวนต่อไป
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ขณะที่เมื่อช่วงเช้าวันเดียวกันนี้ ( 21 ต.ค.) เมื่อเวลา 11.00 น. ที่ด้านหน้าที่ว่าการ อ.ยางชุมน้อย จ.ศรีสะเกษ นายอุบลศักดิ์ บัวหลวงงาม ประธานคณะอนุกรรมการตรวจสอบการบริหารจัดการหอมแดงตามโครงการแก้ไขปัญหาราคาหอมแดงฤดูกาลผลิตปี 2554 / 2555 พร้อมด้วย นายภูวิช ยมหา ผู้อำนวยการส่วนสืบสวนสอบสวนคดีพิเศษ กรมสอบสวนคดีพิเศษ ( DSI ) คณะเจ้าหน้าที่ DSI ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบสถานที่เก็บหอมแดงตามจุดต่าง ๆ ในเขตอ.ยางชุมน้อย จ.ศรีสะเกษ เพื่อสอบปากคำคนในสถานที่เก็บหอมแดงตามจุดต่างๆ และหาข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อประกอบสำนวนในการดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดจากกรณีการทุจริตในโครงการรับซื้อหอมแดง
นายภูวิช ยมหา ผู้อำนวยการส่วนสืบสวนสอบสวนคดีพิเศษ กรมสอบสวนคดีพิเศษ ( DSI ) กล่าวว่า ในวันนี้เป็นการลงพื้นที่เพิ่มเติมต่อจากเมื่อวาน( 20 ต.ค.) เพื่อสอบปากคำ และบันทึกปากคำของคนในสถานที่เก็บหอมแดงตามจุดต่างๆ ที่รู้เห็นถึงพฤติกรรมการนำหอมแดงมาฝากเก็บ หรือ ขนย้ายหอมแดงออกจากพื้นที่ เพื่อหาข้อมูลเพิ่มเติมประกอบสำนวนในการดำเนินคดีกับผู้กระทำผิด โดยจากการลงพื้นที่คนในสถานที่เก็บหอมแดงตามจุดต่างๆ ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าตั้งแต่มีหอมมาฝากเก็บในครั้งแรก แล้วหอมก็เน่าเสียไปแล้วนั้น ก็ไม่มีหอมมาฝากเก็บไว้อีกเลย ซึ่งหมายความว่า การที่องค์การคลังสินค้า (อคส.) ได้ทำเรื่องเบิกเงินกับทางคณะกรรมการ นโยบายและมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร (คชก.) เพื่อมาซื้อหอมในรอบที่ 2 นั้น เป็นการนำหอมแดงที่รับซื้อในรอบแรกมาเวียนเข้าร่วมโครงการรอบที่ 2
“ในเรื่องนี้จะต้องมีเจ้าหน้าที่ของรัฐ นักการเมืองท้องถิ่น และตัวแทนจากสหกรณ์แห่งหนึ่งในอำเภอยางชุมน้อย มีส่วนรู้เห็นกับการทุจริตอย่างแน่นอน ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อออกหมายจับผู้ร่วมขบวนการฉ้อโกงในครั้งนี้” นายภูวิช กล่าว