มหาสารคาม - ผลกระทบจากภัยแล้งส่งผลให้ข้าวหอมมะลิในเขตทุ่งกุลาร้องไห้ ในพื้นที่จังหวัดมหาสารคาม เสียหายแล้วกว่า 7,000 ไร่ แต่ภาพรวมผลผลิตลดลงไม่มาก เกษตรจังหวัดเตรียมวางแผนร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กำหนดพื้นที่ปลูกพืชให้สอดคล้องกับสถานการณ์น้ำ
ว่าที่ ร.ต.จักรภัทร ผ่องโอภาส เกษตรจังหวัดมหาสารคาม เปิดเผยว่า จังหวัดมหาสารคามหลายพื้นที่ในช่วงที่ผ่านมาประสบปัญหาฝนทิ้งช่วง โดยเฉพาะในพื้นที่อำเภอพยัคฆภูมิพิสัย อำเภอนาเชือก อำเภอนาดูน และอำเภอยางสีสุราช ซึ่งเป็นพื้นที่ปลูกข้าวหอมมะลิ ของจังหวัดมหาสารคาม เริ่มประสบปัญหาภัยแล้งนาข้าวเริ่มขาดน้ำและส่อเค้าจะได้รับความเสียหายกว่า 100,000 ไร่
ในเขตพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้เฉพาะในอำเภอพยัคฆภูมิพิสัย จังหวัดมหาสารคาม ซึ่งเป็นแหล่งปลูกข้าวหอมมะลิที่มีชื่อเสียงของจังหวัด ถือว่าได้รับผลกระทบเพียงส่วนน้อย จากการสำรวจข้อมูลพื้นที่ประสบภัยแล้ง ล่าสุดพบพื้นที่ได้รับความเสียหายจากฝนทิ้งช่วงระยะข้าวแตกกอและตั้งท้อง ทำให้ข้าวไม่ออกรวงในพื้นที่ตำบลเวียงชัยและตำบลราษฎร์เจริญ ประมาณ 7,000-8,000 ไร่ ส่งผลต่อผลผลิตข้าวเฉพาะเขตทุ่งกุลาร้องลาร้องไห้ลดลง 2-3 เปอร์เซ็นต์
ทั้งนี้ จากข้อมูลโครงการชลประทานมหาสารคาม สถานการณ์ภัยแล้งส่อเค้ารุนแรงที่สุดในรอบ 20 ปี โดยรวมมีปริมาณน้ำเก็บกักตามอ่างเก็บน้ำทั้งขนาดกลาง ขนาดเล็กค่อนข้างน้อย คือมีเพียง 40.57 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 49.84 ของความจุอ่าง 81.14 ล้านลูกบาศก์เมตร
จึงขอให้เกษตรกรในเขตโครงการชลประทานทุกพื้นที่งดการปลูกข้าวนาปรัง เนื่องจากการเก็บเกี่ยวข้าวของเกษตรกรในเดือนพฤศจิกายนของทุกปีจะเป็นไปอย่างรวดเร็ว และมักจะไถเตรียมแปลงปลูกข้าวนาปรังทันที ซึ่งข้าวนาปรังเป็นพืชที่ใช้น้ำมาก จึงมีความเสี่ยงจะได้รับความเสียหายจากภัยแล้งสูง ทางออกที่ดีเกษตรกรควรหันไปปลูกพืชไร่ และพืชผักที่ให้ผลตอบแทนสูง
จังหวัดมหาสารคามจะได้มีการประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกับโครงการชลประทานมหาสารคาม เพื่อกำหนดพื้นที่เป้าหมายการปลูกพืชฤดูแล้ง ให้สอดคล้องกับสถานการณ์น้ำต่อไป