ศรีสะเกษ - นักโบราณคดีบุกพิสูจน์กรุพระผงโบราณกว่า 10,000 องค์ ขุดพบที่ อ.กันทรารมย์ จ.ศรีสะเกษ เผยมีอายุประมาณ 200-300 ปีในยุคศิลปะล้านช้าง เตรียมขึ้นทะเบียนเป็นโบราณวัตถุ และมอบให้ชาวบ้านหนามแท่งร่วมกันดูแลเป็นสมบัติของชาติต่อไป
วันนี้ (15 ต.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้ากรณีหลวงพ่อสมศักดิ์ สิริธัมโม พระลูกวัดสระพังทองหนามแท่ง บ้านหนามแท่ง ต.หนองแวง อ.กันทรารมย์ จ.ศรีสะเกษ ขุดพบพระผงโบราณและใบเสมาเก่าแก่ ซึ่งเป็นพระผงโบราณปางนาคปรกและปางสมาธิ จำนวนกว่า 10,000 องค์ คาดมีอายุกว่า 1,000 ปี ที่บริเวณกลางป่าสาธารณประโยชน์ดงบ้านเก่าสะเดาหวาน-บ้านหนามแท่ง ต.หนองแวง อ.กันทรารมย์ จ.ศรีสะเกษ และได้มีประชาชนพากันนำดอกไม้ ธูปเทียนมากราบไหว้บูชาเพื่อความเป็นสิริมงคลเป็นจำนวนมาก ท่ามกลางการเฝ้าดูแลรักษาอย่างเข้มงวดตามข่าวที่ได้นำเสนอไปแล้วนั้น
ล่าสุด เมื่อเวลา 11.00 น. วันนี้ นายชินวุฒิ วิลยาลัย นักโบราณคดีชำนาญการพิเศษ สำนักศิลปากรที่ 11 จ.อุบลราชธานี และ น.ส.หทัยชนก วินิจธร นักโบราณคดี โครงการสำรวจลุ่มน้ำมูล-ชี 2555 ได้เดินทางมาตรวจสอบพระผงโบราณ และวัตถุโบราณที่ค้นพบในบริเวณดังกล่าว โดยหลวงพ่อสมศักดิ์ สิริธัมโม พระลูกวัดสระพังทองหนามแท่ง ผู้ขุดค้นพบ ได้นำคณะนักโบราณคดีตรวจสอบพระผงโบราณอย่างละเอียด โดยมีประชาชนจำนวนมากพากันมากราบไหว้ และชมพระผงโบราณอย่างใกล้ชิด ซึ่งคณะนักโบราณคดีได้ดำเนินการตรวจสอบดูลักษณะของพระผงทั้งสองแบบทั้งพระปางนาคปรก และพระปางสมาธิ รวมทั้งตรวจสอบใบเสมาเพื่อดูว่ามีรูปลักษณะเป็นอย่างไร
นายชินวุฒิ วิลยาลัย นักโบราณคดีชำนาญการพิเศษ สำนักศิลปากรที่ 11 จ.อุบลราชธานี กล่าวว่า จากการได้ทำการตรวจสอบพระผงโบราณทั้งหมดแล้ว สันนิษฐานว่าพระผงโบราณทั้งหมดเป็นศิลปะล้านช้าง มีอายุประมาณ 200-300 ปี โดยพระผงโบราณทำด้วยเนื้อว่าน แต่ยังไม่ทราบว่าเป็นว่านชนิดใด ซึ่งพระทั้งหมดมีลักษณะเป็นพิมพ์แบบทั่วไป โดยพระปางนาคปรกมีลักษณะเป็นพระนาคปรกอยู่ตรงกลาง และมีรูปเทพเจ้าชายและหญิงอยู่ข้างซ้ายและข้างขวา รวมเรียกว่า พระตรีกาย หรือรัตนไตรมหายาน
ส่วนเงินราง คาดว่ามีอายุประมาณ 100-200 ปี ซึ่งจะได้รายงานเรื่องนี้ให้นายขจร มุกมีค่า ผู้อำนวยการสำนักศิลปากรที่ 11 จ.อุบลราชธานี ได้ทราบ เพื่อรายงานไปยังพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จ.อุบลราชธานี และจะได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณวัตถุของแผ่นดินต่อไป
นายชินวุฒิกล่าวต่อว่า สำหรับในด้านการดูแลรักษาพระผงโบราณและวัตถุโบราณนั้นมีอยู่ 2 แนวทาง คือ กรมศิลปากรเป็นผู้เก็บรักษาดูแล และชุมชนร่วมกันดูแล แต่จากการที่ตนได้พบปะกับผู้นำชุมชนในตำบลนี้แล้ว พบว่าชุมชนมีความเข้มแข็งมาก อาจจะมอบให้ชุมชนร่วมกันดูแลรักษา ทั้งนี้ต้องทำทะเบียนโบราณวัตถุเสร็จเสียก่อนว่ามีจำนวนเท่าใด จากนั้นจะได้มีการประชุมร่วมกันระหว่างส่วนราชการที่เกี่ยวข้องกับประชาชนในพื้นที่ เพื่อกำหนดแนวทางในการเก็บดูแลรักษาต่อไป ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 2 สัปดาห์จึงจะแล้วเสร็จ
ทางด้านหลวงพ่อสมศักดิ์ พระลูกวัดสระพังทองหนามแท่ง บ้านหนามแท่ง ผู้ขุดค้นพบ กล่าวว่า รู้สึกดีใจมากที่ส่วนราชการและชาวบ้านเข้ามาร่วมกันดูแลรักษาพระผงโบราณและวัตถุโบราณทั้งหมดที่ค้นพบในครั้งนี้ ซึ่งในอนาคตต่อไปจะมีการจัดตั้งสำนักปฏิบัติธรรมที่บริเวณนี้ ซึ่งจะต้องรอดูว่ากรรมการหมู่บ้าน รวมทั้งผู้นำท้องถิ่นทุกคนจะหารือกัน และมีข้อตกลงร่วมกันอย่างไร
“ขณะนี้มีบรรดาพ่อค้าพระโบราณ รวมทั้งนักสะสมของเก่าจำนวนมากพยายามติดต่อกับอาตมภาพเพื่อที่จะขอซื้อพระผงโบราณทั้งหมด แต่ว่าอาตมภาพและผู้นำหมู่บ้านแห่งนี้ไม่ยอมขาย และไม่พูดติดต่อด้วย เพราะต้องการเก็บพระผงโบราณและวัตถุโบราณทั้งหมดให้เป็นสมบัติของชาวบ้านหนามแท่งและเป็นสมบัติของแผ่นดินตลอดไป” หลวงพ่อสมศักดิ์กล่าว