มหาสารคาม - เกษตรกรผู้ทำนามหาสารคามเดือดร้อน สภาพอากาศแปรปรวนโรคจากเชื้อราระบาดนาข้าว โดยเฉพาะโรคเมล็ดด่างข้าว ล่าสุดพบการระบาดแล้วในหลายพื้นที่ ขณะที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่เร่งควบคุมการแพร่ระบาด
จากสภาพอากาศแปรปรวนในพื้นที่จังหวัดมหาสารคาม ส่งผลให้พบการแพร่ระบาดของโรคจากเชื้อราระบาดนาข้าวที่ตำบลดอนกลาง และตำบลเขวาไร่ อำเภอโกสุมพิสัย จังหวัดมหาสารคาม กว่า 300 ไร่
จากการสำรวจติดตามของนักวิชาการสำนักงานเกษตรจังหวัดมหาสารคาม พบเกษตรกรที่ปลูกข้าวไร่พันธุ์สกลนครเป็นโรคเมล็ดด่าง ซึ่งมีสาเหตุเกิดจากเชื้อรา พบการระบาดในระยะออกรวงใกล้เก็บเกี่ยวลักษณะเมล็ดลีบ ทั้งนี้ โรคเมล็ดด่างเป็นโรคร้ายแรงโรคหนึ่งพบได้เป็นประจำทุกฤดู โดยเฉพาะเมื่อข้าวกำลังออกรวงแล้วเกิดฝนตก ความชื้นในนาค่อนข้างสูงและข้าวต้นเตี้ยที่ใช้ปุ๋ยสูง ลักษณะอาการเมล็ดลีบเป็นบางส่วน บนเมล็ดเต็มส่วนใหญ่จะมีแผลเป็นจุดสีน้ำตาล-ดำ บางส่วนก็มีลายสีน้ำตาล และบางพวกมีสีเทา หรือสีปนชมพู ทั้งนี้ เพราะมีเชื้อราหลายชนิดที่สามารถเข้าทำลายและทำให้เกิดอาการแตกต่างกันไป การเข้าทำลายของเชื้อรามักจะเกิดในช่วงที่ดอกข้าวผสมแล้วอยู่ในช่วงเป็นน้ำนมและกำลังจะสุก หลังจากนั้นประมาณเกือบเดือนที่ใกล้เก็บเกี่ยว อาการเมล็ดด่างจะปรากฏเด่นชัด โรคนี้สามารถแพร่กระจายไปกับลม และติดไปกับเมล็ด และอาจทำให้เชื้อราแพร่กระจายในยุ้งฉางได้
น.ส.ยุพดี รัตนพันธ์ นักวิชาการส่งเสริมการเกษตร สำนักงานเกษตรจังหวัดมหาสารคาม ได้แนะนำวิธีการป้องกันและกำจัดโรคเมล็ดด่างว่า ให้เกษตรกรหลีกเลี่ยงด้วยการใช้เมล็ดพันธุ์จากแปลงที่ไม่เป็นโรค คลุกเมล็ดพันธุ์ด้วยสารป้องกันกำจัดเชื้อรา เช่น คาร์เบนดาซิม แมนโคเซบ ในอัตรา 3 กรัมต่อเมล็ดพันธุ์ 1 กิโลกรัม ในระยะที่ข้าวกำลังจะให้รวง หรือให้รวงเป็นเมล็ดแล้ว ถ้ามีฝนตกชุกควรวางมาตรการป้องกันแต่ต้นมือ คือ ป้องกันตั้งแต่ตอนข้าวออกรวงเป็นเมล็ดแล้ว โดยใช้ยาเคมี เช่น โพลีออกซิน ซีสเทน ฮีโนซาน หรือเดลซีน ฉีดพ่นตามคำแนะนำของนักวิชาการ