xs
xsm
sm
md
lg

อุบลฯ เตรียมพร้อมรับมือพายุ “แกมี” เชื่อกระทบไม่รุนแรง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ระดับแม่น้ำมูล ยังสามารถรับน้ำได้อีกจำนวนมาก
อุบลราชธานี - หน่วยงานด้านป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดอุบลราชธานีพร้อมรับมือพายุ “แกมี” ที่จะเริ่มมีอิทธิพลทำให้ฝนตกใน 1-2 วันนี้ คาดมีน้ำท่วมตามพื้นที่ราบลุ่มที่ระบบระบายน้ำทำงานไม่ทัน แต่ลำน้ำสำคัญยังรับน้ำได้มาก คาดส่งผลกระทบไม่มาก

วันนี้ (5 ต.ค.) ที่ จ.อุบลราชธานี นายอดิศักดิ์ เทพอาสน์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี กล่าวถึงผลกระทบของพายุ “แกมี” ที่กำลังเคลื่อนตัวขึ้นฝั่งที่ประเทศเวียดนามและอาจมีผลกระทบต่อพื้นที่ของจังหวัดในวันพรุ่งนี้ (6 ต.ค.) เป็นต้นไป เบื้องต้นมีการตั้งศูนย์บัญชาการส่วนหน้าติดตามสถานการณ์และใช้ประสานงาน พร้อมเปิดสายโทรศัพท์รับแจ้งขอความช่วยเหลือผ่านหมายเลขด่วน 1669 ซึ่งมีคู่สายมากถึง 50 เลขหมายตลอด 24 ชั่วโมง

นอกจากนี้ สั่งการให้นายอำเภอทั้ง 25 แห่งแจ้งให้นายกเทศมนตรี สำนักงานเทศบาล นายกองค์การบริหารส่วนตำบล เตรียมกำลัง อปพร.อุปกรณ์เคลื่อนย้ายเข้าช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ของตนเองได้ทันที และยังเตรียมกำลังเคลื่อนที่เร็วจากมณฑลทหารบกที่ 22 กองบินที่ 21 และหน่วยเรือ นรข.อุบลราชธานี พร้อมเข้าสนับสนุนการปฏิบัติงานเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นด้วย

ด้านนายพงษ์ศักดิ์ คำศรี หัวหน้าฝ่ายจัดสรรและปรับปรุงระบบชลประทานโครงการโขง ชี มูลตอนล่าง ระบุถึงปริมาณน้ำตามแหล่งเก็บน้ำตามธรรมชาติ ยังมีปริมาณน้อยคิดเป็นร้อยละ 75 ของความจุ จึงสามารถรองรับน้ำฝนได้อีก ส่วนลำน้ำสำคัญทั้งแม่น้ำมูล แม่น้ำชี และแม่น้ำโขง ซึ่งเป็นพื้นที่ใช้รองรับน้ำจากน้ำฝนที่จะตกลงมา ขณะนี้ระดับน้ำยังต่ำกว่าตลิ่ง

โดยแม่น้ำมูลที่ปากแม่น้ำโขง อ.โขงเจียม ระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่ง 5.76 เมตร ส่วนระดับน้ำในแม่น้ำโขงที่อำเภอเดียวกันมีน้ำต่ำกว่าตลิ่ง 10.17 เมตร และระดับน้ำแม่ชีที่ อ.เขื่องใน ต่ำกว่าตลิ่ง 2.03 เมตร

ขณะที่นายเวชสุวรรณ อาจวิชัย หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด กล่าวว่า สำหรับพื้นที่ที่จะได้รับผลกระทบจากน้ำฝนที่ตกลงมามากกว่าปกติเป็นบริเวณที่ราบลุ่มที่ระบบระบายน้ำทำงานไม่ทัน ทำให้เกิดน้ำท่วมเป็นช่วงๆ สั้นไม่นาน เพราะพื้นที่รองรับน้ำตามธรรมชาติยังรับน้ำได้มาก จึงได้เตรียมเครื่องสูบน้ำเข้าช่วยสูบน้ำออกจากพื้นที่ที่อาจมีน้ำท่วมขังไว้แล้วกว่า 100 เครื่อง

ซึ่งคาดว่าพายุแกมี เมื่อขึ้นฝั่งและพัดมาปะทะกับลักษณะภูมิประเทศของประเทศลาวทางตอนใต้ ซึ่งมีภูเขาขวางกั้นจำนวนมาก เมื่อเข้าสู่ประเทศไทยด้านจังหวัดอุบลราชธานี ทำให้อ่อนกำลังลงและส่งผลกระทบต่อพื้นที่ไม่มาก

สำหรับปริมาณน้ำฝนภาคตะวันออกเฉียงเหนือระหว่างเวลา 07.00 น.วันที่ 4 ต.ค.ถึงเวลา 07.00 น.วันที่ 5 ต.ค. มากที่สุดที่ อ.เมือง จ.ร้อยเอ็ด วัดได้ 44.2 มิลลิเมตร
กำลังโหลดความคิดเห็น