xs
xsm
sm
md
lg

เตือนช่วงออกพรรษาดูแลบุตร-หลานใกล้ชิด เล่นประทัดดัดแปลงเสี่ยงถึงชีวิต

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวขอนแก่น - โรงพยาบาลขอนแก่นเตือนภัยผู้ปกครองควรดูแลอย่างใกล้ชิดอย่าปล่อยให้ลูกหลานเล่นประทัดตามลำพังในช่วงเทศกาลออกพรรษานี้ เผยปีกลายเหยื่อประทัดเข้ารับการรักษาสูงถึง 32 ราย สาหัส 11 ราย บางรายถึงขั้นตัดนิ้วทิ้ง บางรายแขนขาด-สูญเสียดวงตา

จากกรณีเด็กเล่นประทัดที่ได้รับบาดเจ็บ โดยเฉพาะในช่วงเดือนกันยายน-เดือนตุลาคมของทุกปี ซึ่งเป็นช่วงเทศกาลออกพรรษาเป็นจำนวนมาก ซึ่งทั้งหมดเกิดจากการเล่นประทัด ซึ่งการเล่นประทัดของเด็กในปัจจุบันมีการพัฒนาให้เกิดอานุภาพรุนแรงและอันตรายมากยิ่งขึ้น

โดยเด็กจะนำประทัดต่างๆ เช่น ประทัดสามเหลี่ยม ประทัดลูกบอล มาดัดแปลงด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์มาเล่น ซึ่งอาจจะพลาดท่าทำให้ได้รับอันตรายถึงขั้นบาดเจ็บสาหัส ต้องตัดนิ้ว ตาแตก จนถึงขั้นตาบอด กลายเป็นผู้พิการในที่สุด

นายแพทย์ธนนิตย์ สังคมกำแหง นายแพทย์ชำนาญพิเศษ กลุ่มงานออร์โธปิดิกส์ โรงพยาบาลขอนแก่น กล่าวถึงสถิติการเข้ารับการรักษาของเด็กเมื่อปี 2554 ในช่วงเดือนกันยายน-ตุลาคม พบว่ามีเด็กอายุตั้งแต่ 5-12 ปีเข้ามารับการรักษาสูงถึง 32 ราย และนอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาล 21 ราย และอาการสาหัส 11 ราย โดยทั้ง 11 รายดังกล่าวมีบางรายต้องผ่าตัดนำนิ้วที่เสียหายออก บางรายแขนขาด และบางรายถึงกับต้องสูญเสียดวงตา

ซึ่งแนวโน้มในปีนี้เด็กที่ได้รับอันตรายจากการเล่นประทัดน่าจะสูงขึ้น ทางโรงพยาบาลขอนแก่นจึงอยากจะฝากเตือนให้ผู้ปกครองควรดูแลบุตรหลานอย่างใกล้ชิด และห้ามเล่นประทัด พลุ ดอกไม้ไฟ หรือควรดูแลไม่ให้นำประทัดมาดัดแปลงเอง เพราะอาจจะพลาดท่าเกิดอันตรายได้รับบาดเจ็บสาหัส ถึงขั้นพิการและเสียชีวิตได้

ด้านนายแพทย์วีระพันธ์ สุพรรณไชยมาตย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลขอนแก่น กล่าวว่า โรงพยาบาลขอนแก่นได้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งทางเจ้าหน้าที่ตำรวจ จังหวัด และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้ออกโรงป้องปรามไปยังร้านค้า ไม่ควรจำหน่ายประทัดที่มีความรุนแรงแก่เด็ก และเยาวชน

แต่จากสถานการณ์ล่าสุด แนวโน้มเด็กที่ได้รับบาดเจ็บจากการเล่นประทัดโดยดัดแปลง แกะเอาดินปืนจากประทัดแบบสามเหลี่ยมชิ้นละ 1 บาท มาแกะใส่ประทัดแบบลูกบอล ลูกละ 1-2 บาท จนเพิ่มความรุนแรง

ดังนั้น ก่อนถึงเทศกาลออกพรรษา จากปลายเดือนกันยายนถึงวันออกพรรษาในวันที่ 31 ตุลาคม 2555 นี้ จึงขอเตือนผู้ปกครองควรดูแลบุตรหลานอย่างใกล้ชิด และจิตสำนึกผู้จำหน่ายควรคำนึงถึงความปลอดภัยของเด็กด้วย

กำลังโหลดความคิดเห็น