ราชบุรี - โรงพยาบาลราชบุรี พบเด็กวัย 20 วัน ป่วยเป็นโรคผนังหน้าท้องพิการแต่กําเนิด เผยขณะนี้ แพทย์ได้ทำการผ่าตัดเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เด็กปลอดภัย และมีร่างกายที่แข็งแรงดี กินนมได้ดี
เมื่อเวลา 10.30 น.วันนี้ (2 ต.ค.) ที่ห้องหน่วยทารกแรกเกิดโรงพยาบาลราชบุรี นายสมชาย เทพเจริญนิรันดร์ ผู้อํานวยการโรงพยาบาลราชบุรี เปิดเผยถึงประวัติของ ด.ญ.ชญานุตม์ พานแก้ว อายุ 20 วัน ที่ป่วยเป็นโรคผนังหน้าท้องพิการแต่กําเนิด มีลําไส้ออกมานอกหน้าท้อง โดยได้รับผู้ป่วยมาจากโรงพยาบาลเลาขวัญ จ.กาญจนบุรี ว่า มารดาของเด็กอายุ 18 ปี เริ่มเจ็บท้องคลอดเวลา 22.00 น.วันที่ 12 ก.ย.55 ไปโรงพยาบาลเลาขวัญ ตรวจพบปากมดลูกเปิด 2 ซม. มารดาไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลพหลพลพยุหเสนา พบว่าเด็กมีภาวะ Gastroschisis จึงขอ Refer มารักษาต่อที่โรงพยาบาลราชบุรี
โดยคลอดเมื่อวันที่ 14 ก.ย.55 เวลา 08.25 น. น้ำหนัก 1,896 กรัม พบว่าเด็กมีลำไส้ออกมาทางหน้าท้องจึงย้ายเด็กเข้าหอผู้ป่วยวิกฤต-ทารกแรกเกิด เข้ารับการผ่าตัดยัดลําไส้เข้าสู่หน้าท้อง วันที่ 14 ก.ย.55 เข้ารับการรักษาต่อที่หอผู้ป่วยวิกฤต-ทารกแรกเกิด ใส่เครื่องช่วยหายใจตั้งแต่วันที่ 14-18 ก.ย.55 ต่อมา ให้ออกซิเจน Box ต่ออีกจนถึงวันที่ 24 ก.ย.55 หลังจากนั้น หายใจ room air จนถึงปัจจุบัน ย้ายเด็กมาอยู่หอผู้ป่วยทารกแรกเกิดตั้งแต่วันที่ 20 ก.ย.55 หลังผ่าตัดจนมาเริ่มให้นมวันที่ 27 ก.ย.55 ทุก 3 ชั่วโมง ปัจจุบัน ให้นม s1/BM17 cc ทุก 3 ชั่วโมงดูดได้ดี ไม่มีสำรอก ท้องอืดนิ่มเล็กน้อย น้ำหนัก 1,930 กรัม ผู้ป่วยใช้สิทธิการรักษาบัตรประกันสุขภาพถ้วนหน้าต่างจังหวัด
นายสมชาย เทพเจริญนิรันดร์ ผู้อํานวยการโรงพยาบาลราชบุรี กล่าวว่า สําหรับโรคเป็นพิการแต่กําเนิด เกิดตั้งแต่อยู่ในท้องของแม่ สาเหตุน่าจะมาจากเซลล์ที่ไปเลี้ยงบริเวณหน้าท้องฝ่อทําให้ผนังหน้าท้องแยกออกจากกันทําให้ลําไส้ออกมาอยู่นอกท้อง โรงพยาบาลราชบุรีช่วงหลายปีที่ผ่านมา พบผู้ป่วยผนังหน้าท้องพิการแต่กําเนิดแล้วประมาณ 150 ราย สําหรับที่อยู่ใน จ.ราชบุรี ประมาณ 10 ราย ส่วนใหญ่เป็นเด็กที่ส่งมาจาก 8 จังหวัด ที่พบบ่อยส่วนใหญ่มาจาก จ.กาญจนบุรี และส่วนใหญ่จะเป็นกับคุณแม่อายุน้อยๆ อายุประมาณ 18 ปี ลงมาประมาณ 90% เป็นท้องแรก
สําหรับโรคนี้น่าจะเกิดจากเรื่องอาหารการกิน เรื่องสุขภาพในการดูแล สําหรับเรื่องอันตรายนั้น หากมาถึงแพทย์ก่อนจะสามารถช่วยเหลือได้ แต่ที่เป็นปัญหาคือ พื้นที่ที่อยู่ห่างไกลการเดินทางลําบากมาถึงหมอช้า ที่อันตรายมากที่สุดคือ การติดเชื้อ ไส้ออกมาอยู่นอกช่องท้องหากได้รับเชื้อโรคเข้าไปจะเข้าสู่กระแสโลหิตทําให้ติดเชื้อถึงตายได้ ก่อนการเดินทางมาถึงแพทย์นั้นทําอย่างไรให้สะอาดที่สุด
สําหรับที่โรงพยาบาลราชบุรี มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกุมารเวชถึง 4 ท่าน รวมทั้งผู้อํานวยการ หากผู้ป่วยเดินทางถึงโรงพยาบาลได้ทันเวลาก็จะสามารถช่วยเหลือได้ โดยเฉพาะรายนี้ และที่โรงพยาบาลราชบุรีให้บริการฟรีไม้คิดค่าใช้จ่ายใดๆ
อย่างไรก็ตาม สําหรับ ด.ญ.ชญานุตม์ พานแก้ว ขณะนี้แพทย์ได้รับการผ่าตัดเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดย แพทย์หญิงระพีพรรณ เชี่ยวชาญไพศาล แพทย์ด้านกุมารศัลยกรรม สามารถผ่าตัดได้อย่างปลอดภัย และเด็กมีร่างกายที่แข็งแรงดี กินนมได้ดี