xs
xsm
sm
md
lg

ศูนย์เตือนภัยพิบัติฯ สร้างจิตอาสาเพื่อเป็นกำลังหลักช่วยเหลือภัยพิบัติที่เกิดขึ้น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

จันทบุรี- ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ เดินสายสร้างจิตอาสาในพื้นที่เสี่ยงทั่วประเทศ หลังที่ผ่านมา ภาคประชาชนเป็นกำลังหลักในการเข้าช่วยเหลือ และบรรเทาภัยพิบัติที่เกิดขึ้นมากกว่าภาครัฐ

วันนี้ (27 ก.ย.) ที่ศาลาเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เทศบาลเมืองจันทบุรี นายสมเกียรติ ศิริวัฒนโชค ผู้ตรวจราชการ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสาร เป็นประธานเปิดโครงการจัดกิจกรรมโครงการสร้างองค์ความรู้ ด้านระบบเตือนภัยพิบัติของพื้นที่เสี่ยงภัย และสร้างเครือข่ายศูนย์เตือนภัยพิบัติภาคประชาชน เพื่อป้องกันและบรรเทาภัย โดยมีนายณรงค์ ธีระจันทรางกูล รองผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี นาวาอากาศเอก สมศักดิ์ ขาวสุวรรณ์ ผู้อำนวยการศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ผู้แทนจากสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สาธารณสุขจังหวัด ตำรวจภูธรจังหวัดจันทบุรี ตลอดจนเจ้าหน้าที่ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยกู้ชีพกู้ภัย ทีมแพทย์ฉุกเฉินในพื้นที่เข้าร่วมในโครงการครั้งนี้ กว่า 150 คน

นายสมเกียรติ กล่าวว่า จากที่ผ่านมาเห็นได้ว่าภาวะภัยพิบัติต่างๆ ได้ทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยบางครั้งอยู่นอกเหนือการคาดการณ์ อันมีสาเหตุมาจากวิกฤตการณ์ของโลกที่เปลี่ยนแปลงไป ทั้งจากธรรมชาติ และฝีมือมนุษย์ ดังนั้น เราจะต้องมีการเตรียมความพร้อมในการรับมือในทุกสถานการณ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเผชิญกับสถานการณ์ควรต้องได้รับการบรรเทาและดำเนินการที่ดี พร้อมทั้งเผชิญเหตุการณ์อย่างมีสติ และถึงแม้เราจะไม่สามารถควบคุมความรุนแรงจากภัยพิบัติได้ แต่เราสามารถเตรียมรับมือกับภัยพิบัติที่เกิดขึ้นได้บนพื้นฐานความรู้ และความเข้าใจที่ถูกต้อง เพื่อบรรเทาความสูญเสียที่เกิดขึ้น

จากการเผชิญเหตุที่ผ่านมา ภาคประชาชนที่มีจิตอาสา ถือเป็นกำลังหลักในการเข้าช่วยเหลือผู้ประสบภัยในหลายรูปแบบ โดยการทำงานที่เสียสละ และมีความคล่องตัวมากกว่าหน่วยงานภาครัฐ ทั้งมูลนิธิ สมาคมการกุศล เครือข่ายวิทยุสมัครเล่น รวมถึงกลุ่มชมรมต่างๆ สามารถเข้าถึงผู้ประสบภัยได้รวดเร็ว เนื่องจากมีความชำนาญในพื้นที่

ด้าน นาวาอากาศเอกสมศักดิ์ กล่าวว่า นอกจากศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ จะเป็นหน่วยงานหลักที่ทำหน้าที่ในการบริหาร และบูรณาการความร่วมมือเกี่ยวกับการแจ้งเตือนภัยระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อรับมือกับภัยพิบัติต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นแล้ว แต่ยังไม่เพียงพอ การสร้างเครือข่ายศูนย์เตือนภัยพิบัติในภาคประชาชนเพื่อป้องกันและบรรเทาภัย จะทำให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยได้มีวัคซีนที่เป็นภูมิคุ้มกันต่อภัยพิบัติ รวมทั้งทราบข้อมูล และเรียนรู้ถึงการเกิดภัยพิบัติ การเฝ้าระวัง การป้องกัน ตลอดจนการหลบภัยอย่างถูกวิธีที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน

สำหรับการเดินสายจัดโครงการไปยัง 20 จังหวัดทั่วประเทศ ครอบคลุมพื้นที่เสี่ยงภัย จะมีทั้งการให้ความรู้ และจัดอบรมทั้งภาคทฤษฎี และภาคปฎิบัติ ในรูปแบบของการซักซ้อมการรับข่าว การแจ้งเตือนภัย การให้ความช่วยเหลือ และประสานระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เป็นระบบ และเพื่อเป็นการเพิ่มจำนวนผู้มีจิตอาสาในพื้นที่เสี่ยงภัยทั่วประเทศ

นาวาอากาศเอกสมศักดิ์ กล่าวต่อไปว่า ขณะเดียวกัน โครงการภัยพิบัติ รู้ทัน รับมือได้ จะมีนิทรรศการให้ความรู้เกี่ยวกับภัยพิบัติแต่ละประเภท การเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมอบรมได้รับประสบการณ์จริงจากการร่วมฝึกซ้อมเครือข่ายศูนย์เตือนภัยภาคประชาชนในการรายงานเหตุการณ์ และการแจ้งเตือนภัยในสถานการณ์ต่างๆ พร้อมวิธีการสื่อสาร และการสาธิตอุปกรณ์การเตือนภัยพิบัติ ด้วยการจำลองสถานการณ์จริงของภัยพิบัติในกรณีต่างๆ เพื่อฝึกให้กลุ่มเป้าหมายได้เรียนรู้วิธีปฏิบัติตนในนาทีวิกฤตเบื้องต้น
กำลังโหลดความคิดเห็น