xs
xsm
sm
md
lg

บีโอไอระดมกูรูจาก ADB-ภาคเอกชน ขึ้นเวทีปลุกเถ้าแก่เหนือล่าง รับ AEC-EWEC

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


พิษณุโลก - บีโอไอ-ตัวแทนธนาคาร ADB ปลุกนักลงทุนเหนือล่าง ชี้ระเบียงเศรษฐกิจ 6 ประเทศ ตามแนวตะวันออก-ตะวันตก เดินถูกทางแล้ว เดินหน้าพัฒนาระบบลอจิสติกส์ต่อ เผยขณะนี้รอแค่ขจัดอุปสรรคระเบียบภาษี-ศุลกากรให้ได้มาตรฐานเท่านั้น

รายงานข่าวจากจังหวัดพิษณุโลก แจ้งว่า สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนภาคที่ 1 ได้จัดการสัมมนาเรื่อง AEC และ EWEC โอกาสของการลงทุนไทยใน CLMV ที่โรมแรมเรือนแพ รอยัล ปาร์ค จ.พิษณุโลก เพื่อสร้างองค์ความรู้และเตรียมความพร้อมสำหรับนักลงทุนไทยที่สนใจไปลงทุนในกลุ่มประเทศเหล่านี้ โดยมีหนักลงทุนจากภาคเหนือตอนล่างเข้าร่วมรับฟังสัมมนาร่วม 100 คน

นายสมมาตย์ ตั้งสกุล ผู้อำนวยการศูนย์เศรษฐกิจการลงทุนภาคที่ 1 (บีโอไอ) กล่าวว่า เพื่อให้นักลงทุนได้ตื่นตัวและเปิดโอกาสรับรู้การลงทุนใน AEC ส่วนนักลงทุนไทยในภาคเหนือตอนล่าง ที่ต้องการดูงานในประเทศเพื่อนบ้าน หรือกลุ่มประเทศ CLMV คือ กัมพูชา, ลาว, เมียนมาร์, เวียดนาม ก็สามารถติดต่อที่บีโอไอสำนักงานพิษณุโลก เพื่อเสนอไปยังสำนักงานใหญ่รวบรวมนักธุรกิจให้เป็นกลุ่มใหญ่จัดโปรแกรมไปดูงานต่างประเทศในกลุ่มอาเซียน เพียงออกค่าใช้จ่ายค่าเดินทางและที่พักเอง ส่วนค่าอาหารและพาหนะ หรือไกด์ ทางบีโอไอจะสนับสนุนตลอดการเดินทาง

นายรัตนตรัย หลวงลาดบัณฑิต ตัวแทนจากธนาคารพัฒนาแห่งเอเชีย (ADB) กล่าวว่า ระเบียงเศรษฐกิจใน 6 ประเทศ ตามแนวตะวันออก-ตะวันตก เกิดขึ้นนับตั้งแต่ปี 1998 มุ่งหมายให้พัฒนาด้านการขนส่ง จากนั้นพัฒนาเป็นระบบลอจิสติกส์ และพัฒนาเป็นฮับ เปิดโอกาสให้ร่วมมือกันระหว่างรัฐกับเอกชน เปิดเสรีการค้าเชื่อมต่อระหว่างประเทศ เชื่อมคมนาคม เปิดโอกาสการลงทุน ส่งเสริมการลงทุน ฯลฯ ภายใต้เป้าหมายให้ประชาชนในกลุ่มอาเซียนหลุดพ้นจากความยากจน ซึ่งก็ผ่านไปแล้วถือเป็นการดำเนินงานพัฒนาสาธารณูปโภคพื้นฐาน ขั้นต่อไปคือก้าวสู่ความเป็น AEC สิ่งที่ต้องดำเนินการต่อไปคือแก้ไขพิธีการต่างๆ ระเบียบของภาษีและศุลกากร เพื่อเพิ่มความสะดวกรวดเร็วการขนส่งให้ดีกว่าเดิม

นายรัตนตรัยบอกอีกว่า ประเทศไทยจะต้องมี “เมืองเศรษฐกิจพิเศษ” เหมือนกับเมืองเศรษฐกิจพิเศษอย่างเมียวดีของสหภาพพม่า นโยบายรัฐบาลไทยต้องเดินไปในทิศทางเดียวกัน

ส่วนจังหวัดพิษณุโลก ถือเป็นจังหวัดที่มีศักยภาพกว่าจังหวัดอื่นๆหากมองในแนวระเบียงเศรษฐกิจ 6 ประเทศแนวตะวันออก-ตะวันตก (EWEC) เพียงแต่นักธุรกิจไม่ต้องลงทุนเองทั้งหมด อาศัยความร่วมมือจากต่างประเทศก็ได้

สำหรับ AEC เขามองว่า ขณะนี้มีอุปสรรคเรื่องข้อกฎหมาย ส่วนกรณี SMEs ไทยไปลงทุนในต่างประเทศ โดยได้รับการสนับสนุนเงินกู้จาก ADB นั้น ตอนนี้ยังไม่มี ยังอยู่ในขั้นตอนศึกษาที่จะสนับสนุนได้หรือไม่ อย่างไร

ด้าน นายวิโรจน์ จิรัฐกาลโชติ ที่ปรึกษาหอการค้าจังหวัดพิษณุโลก กล่าวว่า การเข้าไปทำธุรกิจในอาเซียนจะต้องรู้ระเบียบ ข้อกฎหมาย สังคมและวัฒนธรรมก่อน เพราะจะมีผลโดยตรงกับคนทำธุรกิจ สำหรับสัดส่วนนักธุรกิจไทย ในอาเซียนขณะนี้ถือว่า น้อยมาก อย่าง สปป.ลาว ไทยลงทุนเป็นอันดับ 4 เท่านั้นจากนักลงทุนทั่วโลก

นายวีรวิ เพ็ญชาติ ที่ปรึกษา บริษัท DFDL Mekong เปิดเผยว่า ประเทศพม่ากำลังร่างกฎหมายการลงทุนใหม่ จากที่ไม่เคยมีกฎระเบียบมาก่อน โดยเมื่อ 7 ก.ย. 55 ได้มีการแก้ไขร่างกฎหมายการลงทุนก่อนผ่านสภาฯ อาจปรับลดเม็ดเงินลงทุนต่างประเทศลงจาก 5 ล้านเหรียญสหรัฐ เพราะสูงเกินไป พร้อมกับปรับเงื่อนไขกรรมสิทธิ์เช่าที่ดิน ที่อาจเปิดให้นำไปวางเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน ส่วนประเทศกัมพูชานั้นมีกฎหมายการลงทุนของนักลงทุนต่างประเทศอยู่แล้ว ไม่มีการยึดทรัพย์สินของนักลงทุนต่างประเทศแน่นอน นอกจากนี้สิทธิ์การเช่ายังนำไปเป็นหลักประกันได้ แถมยังเสียภาษีเพียง 20% เท่านั้น


กำลังโหลดความคิดเห็น