xs
xsm
sm
md
lg

ไทย-พม่าเตรียมฉลองใหญ่ครบ 15 ปีสะพานมิตรภาพฯ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ตาก - ตัวแทนภาครัฐ-เอกชนทั้งไทยและพม่าตั้งโต๊ะแถลงเตรียมจับมือจัดงานฉลองใหญ่ครบรอบ 15 ปีสะพานมิตรภาพไทย-พม่า แม่สอด-เมียวดี ระหว่าง 13-15 สิงหาคมนี้

นายสุริยะ ประสาทบัณฑิตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตาก นายอุดร ตันติสุนทร อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะผู้ริเริ่มโครงการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-พม่า เชื่อม อ.แม่สอด จ.ตาก กับจังหวัดเมียวดี ประเทศพม่า นายปิยะ เคนขยัน ผู้อำนวยการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดตาก นางติ่นติ่นเมียะ ประธานหอการค้าจังหวัดเมียวดี ได้ร่วมกันแถลงข่าวที่อาคารบ้านเรือนไทย บ้านริมเมย เชิงสะพานมิตรภาพฯ อ.แม่สอด

ผู้ว่าราชการจังหวัดตากกล่าวว่า ในปี 2558 จะมีการเปิดประตูเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) และสะพานมิตรภาพไทย-พม่า ข้ามแม่น้ำเมย แม่สอด-เมียวดี เป็นสะพานที่สำคัญในการเชื่อมการค้า การท่องเที่ยว และความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ประเทศ และกลุ่มประเทศใน AEC เราจึงได้บูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในจังหวัดตาก จัดงานฉลองครบรอบ 15 ปีที่เปิดใช้ตั้งแต่ 15 ส.ค. 40 เป็นต้นมา และในปีนี้ครบ 15 ปี จึงจัดงานฉลองขึ้น

ประกอบกับด่านชายแดนแม่สอด-เมียวดียังเป็นระเบียงเศรษฐกิจอีสต์เวตส์อีโคโนมิกคอร์ริดอร์ EWEC จากเวียดนาม ลาว ไทย พม่า ผ่านไปยังบังกลาเทศ อินเดีย ตะวันออกกลาง และกลุ่มประเทศยุโรป รวมทั้งยังเป็นเส้นทางที่จะเชื่อมกับมณฑลหยุนหนัน ของจีนได้อีก สะพานมิตรภาพไทย-พม่า แม่สอด-เมียวดี จึงถือเป็นหัวใจของ AEC เป็นจุดเชื่อมจากแม่สอดไปกรุงร่างกุ้งที่ใกล้ที่สุด

“การจัดงานฉลองสะพานมิตรภาพฯ จะจัด 3 วัน ตั้งแต่วันที่ 13-15 ส.ค. 55 นี้ ที่บริเวณสะพานทั้งสองฝั่ง มีการออกร้านแสดงสินค้า การจัดนิทรรศการ การแสดงศิลปวัฒนธรรมสองฝั่ง การประกวดนางงามไทย และพม่า การแข่งขันชกมวยคาดเชือก การแสดงแสงสีเสียง การทำบุญตักบาตรพระสงฆ์ 2 แผ่นดิน การแข่งขันกอล์ฟ VIP โดยจะมีผู้หลักผู้ใหญ่ของทั้งสองฝ่ายมาร่วมงานจำนวนมาก” ผู้ว่าราชการจังหวัดตากกล่าว

นายอุดร ตันติสุนทร ผู้ริเริ่มโครงการก่อสร้างสะพานมิตรภาพฯ แม่สอด-เมียวดี กล่าวว่า สะพานแห่งนี้เริ่มมาตั้งแต่ปี 2531 สมัยตนเป็น ส.ส.และ รมช.เกษตรฯ ได้ขอให้ พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ นายกรัฐมนตรี ในขณะนั้นดำเนินการเพื่อให้เป็นสะพานขนส่งสินค้าและการท่องเที่ยว แต่ก็ต้องหยุดชะลอไปในปี 2534 เมื่อมีคณะ รสช.ยึดอำนาจ ต่อมาในปี 2537 ตนได้เดินหน้าเรื่องนี้ต่อในสมัยนายชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรี และตนเป็น รมช.มหาดไทย จนก่อสร้างแล้วเสร็จและเปิดใช้ครั้งแรกเมื่อวันที่ 15 ส.ค. 2540 ด้วยงบประมาณ 79.2 ล้านบาท

“ผมริเริ่มโครงการสะพานมิตรภาพไทย-พม่าเพื่อสร้างสันติภาพและความมั่นคงทางเศรษฐกิจเพื่อให้ประชาชนทั้งสองฝั่งอยู่ดี-กินดี มีความร่วมมือพัฒนาประเทศ และยังเป็นการสนองนโยบายของสหประชาชาติ ที่ต้องการเชื่อมโยงประเทศต่างๆ ในเอเชีย ตามเส้นทาง Asian Highway -A 1”

สำหรับสะพานมิตรภาพไทย-พม่า แห่งนี้มีความยาว 420 เมตร กว้าง 8 เมตร มี 2 ช่องทางจราจร และเมื่อเข้าสู่ AEC ทำให้สะพานมิตรภาพแห่งนี้กลายเป็นสัญลักษณ์ของความร่วมมือในกลุ่มอาเซียนอีกด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น