ศูนย์ข่าวศรีราชา - เทศบาลแหลมฉบัง ร่วมกับ บริษัท ไซม์ ดาร์บี้ แอลซีพี เพาเวอร์ จำกัด จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชน เพื่อทบทวนร่างรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการขยายกำลังผลิตไฟฟ้า
วันนี้ (6 ก.ย. ) นายเรวัติ เขียวสนิท รองนายกเทศนมตรี เทศบาลนครแหลมฉบัง เป็นประธานการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อทบทวนร่างรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการขยายกำลังผลิตไฟฟ้า ของบริษัท ไซม์ดาร์บี้ แอลซีพีเพาเวอร์ จำกัด โดยมีประชาชนชาวแหลมฉบัง และใกล้เคียงเข้าร่วมรับฟังจำนวนมาก
นายปกติ สุจริตวงศานนท์ ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายขาย บริษัท ไซม์ ดาร์บี้ แอลซีพี เพาเวอร์ จำกัด เผยว่า ทางบริษัทได้ดำเนินโครงการเพื่อขอขยายกำลังผลิตไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าเดิมของบริษัท ซึ่งตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง จากเดิมมีกำลังการผลิต 60 เมกะวัตต์ ไอน้ำ 25 ตันต่อชั่วโมง โดยจะขอขยายการผลิตไฟฟ้าเพิ่มอีก 38 เมกะวัตต์ และไอน้ำ 18 ตันต่อชั่วโมง รวมกำลังการผลิตของบริษัทภายหลังจากมีโครงการขยายกำลังการผลิตไฟฟ้าแล้ว จะเท่ากับ 98 เมกะวัตต์ และไอน้ำ 43 ตันต่อชั่วโมง
ทั้งนี้ เพื่อตอบสนองความต้องการการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นตามความเจริญเติบโตของเศรษฐกิจ และอุตสาหกรรม และเป็นการเสริมความมั่นคงในการจ่ายไฟฟ้าของระบบไฟฟ้าภาคอุตสาหกรรม
ในการดำเนินการก่อสร้างโครงการดังกล่าว บริษัทจะต้องทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม เสนอต่อสำนักงานโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม และอีกหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยบริษัทได้ว่าจ้างบริษัท ซีคอท จำกัด ทำการศึกษา และจัดทำรายงานผลกระทบของโครงการให้
ในการจัดทำรายงานผลกระทบจะต้องเปิดเวทีรับฟังความเห็นของประชาชน โดยที่ผ่านมา ได้ เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชนไปแล้วครั้งหนึ่งเมื่อ วันที่ 26 เมษายน 2555 เพื่อสอบถามความต้องการของชาวบ้าน และได้เขียนร่างรายงานไปแล้ว และในครั้งนี้ ได้จัดเวทีขึ้นอีกครั้งเพื่อทบทวนร่วงรายงานผลกระทบฯ ให้ผู้ที่เกี่ยวข้องได้มามีส่วนร่วนในการแสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ และจะนำผลการรับฟังในครั้งนี้ไปปรับปรุงรายงานฯ และมาตรการด้านอื่นให้สอดคล้องกับความต้องการของประชาชน
นายเสน่ห์ ภู่ทอง ประธานชุมชนแหลมฉบัง เผยว่า โดยส่วนตัวไม่ได้มีปัญหาอะไร แต่อยากให้บริษัทมีความจริงใจในการแก้ไขปัญหา เนื่องจากทุกโครงการที่เข้ามาส่วนใหญ่ก็จะบอกว่าของตัวเองดีทุกอย่าง ขั้นตอนของการดำเนินการดีสมบูรณ์แบบไม่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และไม่มีสร้างความเดือดร้อนให้แก่ชุมชน ซึ่งที่ผ่านมา ทุกโรงงานจะพูดแบบนี้ทั้งสิ้น แต่แล้วก็เกิดปัญหาตามมาทุกครั้ง
เช่นในอดีตที่ผ่านมาของแหลมฉบัง ทั้งน้ำเสีย กลิ่นเหม็น เกิดขึ้นมาให้แก้ไขกันอยู่เป็นประจำ ดังนั้น โครงการนี้ก็เช่นกัน จึงอยากให้มีความจริงใจในการดำเนินการอย่างจริงจัง เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ที่จะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และชุมชนให้ได้รับความเดือดร้อน หากสามารถทำได้ก็ไม่มีปัญหาในการขยายโครงการ แต่ที่สำคัญคือ จะต้องมีความจริงใจ