xs
xsm
sm
md
lg

เด็กพิการเมืองน้ำดำสืบสานวิถีอีสาน ฝึกทอเสื่่อ-ทอผ้าหวังเป็นอาชีพหารายได้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เด็กพิการโรงเรียนกาฬสินธุ์ปัญญานุกูล อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ ร่วมกันทอเสื่อกกและทอผ้า พร้อมโชว์ผลงาน ที่ได้จากการเปิดหลักสอนหลักสูตรส่งเสริมอาชีพท้องถิ่น หวังใช้เป็นวิชาชีพเลี้ยงตัวได้ในภายหลังจบการศึกษา ไม่เป็นภาระของสังคม
กาฬสินธุ์ - โรงเรียนกาฬสินธุ์ปัญญานุกูลจัดหลักสูตรการเรียนการสอนย้อนรอยวิถีอีสานให้เด็กพิการทอเสื่อ-ทอผ้า ซึ่งผลงานออกมาสวยงามอย่างยิ่ง หวังใช้เป็นวิชาชีพเลี้ยงตัวได้ในภายหลังจบการศึกษา ไม่เป็นภาระของสังคม

วันนี้ (4 ก.ย.) ที่โรงฝึกอบรมอาชีพ โรงเรียนกาฬสินธุ์ปัญญานุกูล อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ นายสันติ ฤาไชย ผอ.โรงเรียนปัญญานุกูล (สำหรับเด็กพิการ) คณะผู้บริหารโรงเรียนฯ พร้อมนางลาวัลย์ ทีบุญมา ครูประจำกลุ่มพัฒนาทักษะงานอาชีพ พาสื่อมวลชนติดตามการทำการเรียนการสอนหลักสูตรส่งเสริมอาชีพท้องถิ่นในการทอเสื่อและทอผ้า

นายสันติ ฤาไชย ผู้อำนวยการโรงเรียนกาฬสินธุ์ปัญญานุกูล กล่าวว่า ในปีการศึกษา 2555 นี้มีนโยบายในการนำพาครู นักเรียนซึ่งเป็นเด็กพิการ ประมาณ 400 คนสืบสานภูมิปัญญาอีสาน และมีการดำเนินชีวิตตามครรลองของชาวอีสาน โดยจัดโซนเรียนรู้วิถีชีวิตแบบพื้นถิ่นอีสาน มีการสร้างเรือน ปลูกผักสวนครัว เลี้ยงสัตว์ ปลูกข้าว จัดแปลงสาธิตสำหรับหากบ หาเขียด จับปลามาทำเป็นอาหารตามวิถีดั้งเดิมของชาวอีสาน

ขณะที่การเรียนการสอนในห้องเรียนก็เพิ่มและเน้นภาคปฏิบัติเข้ามา ไม่ว่าจะเป็นการประดิดประดอยงานฝีมือต่างๆ ซึ่งจะมีเด็กในกลุ่มนี้ประมาณ 40 คน มีครูผู้ฝึกสอนดูแลอย่างใกล้ชิด มีการทำดอกไม้ประดิษฐ์ ของที่ระลึก ที่ทำได้ดีและน่าทึ่งก็คือการทอเสื่อกก และทอผ้า

ผู้อำนวยการโรงเรียนกาฬสินธุ์ปัญญานุกูลกล่าวอีกว่า จากการประเมินการพัฒนาศักยภาพเด็กพิการ หลังการจัดเต็มหลักสูตรการเรียนการสอนแบบย้อนรอยอีสานดังกล่าว พบว่าเสมือนได้พบสารเร่งที่ช่วยพัฒนาศักยภาพเด็กพิการได้รวดเร็วและดีขึ้น เพราะการเรียนรู้การดำเนินชีวิตแบบชาวอีสาน

รวมทั้งการทอเสื่อทอผ้าทำให้จิตใจเด็กปลอดโปร่ง ผ่อนคลาย ได้อยู่กับธรรมชาติ ทำให้มีสมาธิ เป็นการพัฒนาทักษะทั้งด้านสติปัญญาและการเคลื่อนไหวกล้ามเนื้อมัดใหญ่ กล้ามเนื้อมัดเล็ก ด้วยกิจกรรมที่ทำง่ายๆ และเป็นสิ่งที่อยู่ใกล้ตัว เด็กๆ มีการพัฒนาศักยภาพที่ดีขึ้นกว่าที่ผ่านมา

นอกจากนี้ ยังได้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นสินค้าพื้นเมือง มีประโยชน์ใช้สอยหลากหลาย นำไปจำหน่ายตามงานต่างๆ สร้างรายได้ให้เด็กพิการขณะเรียน โดยเฉพาะสามารถยึดเป็นอาชีพหลังจบการศึกษาออกไป ที่ถึงแม้จะเป็นบุคคลพิการ ในอนาคตอาจจะไม่สามารถรับราชการหรือเลือกทำงานต่างๆ ได้ ก็ยังมีวิชาชีพติดตัวสามารถที่จะสร้างรายได้เลี้ยงตัว ช่วยเหลือผู้ปกครอง และอยู่ร่วมกับบุคคลอื่นได้โดยไม่เป็นภาระของสังคม

กำลังโหลดความคิดเห็น