บุรีรัมย์ - ผู้พิการจังหวัดบุรีรัมย์ 714 คน ค้างชำระหนี้เงินกองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการกว่า 15 ล้านบาท เหตุประสบปัญหาด้านการประกอบอาชีพและย้ายถิ่นฐาน ขณะที่ พมจ.ส่งเจ้าหน้าที่ออกเร่งรัดติดตาม เพื่อนำเงินเข้ากองทุนให้คนพิการรายใหม่ยื่นกู้ไปลงทุนประกอบอาชีพ
วันนี้ (27 ส.ค.) นางไพรวรรณ พลวัน ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด (พมจ.) บุรีรัมย์ เปิดเผยว่า หลังจากที่ทางรัฐบาลได้มีนโยบายปล่อยเงินกู้ยืมสำหรับคนพิการ เพื่อนำไปลงทุนประกอบอาชีพโดยไม่คิดอัตราดอกเบี้ย ผ่านทางกองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ตั้งแต่ปี 2539 จนถึงขณะนี้ ในพื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์ได้มีคนพิการจากทั้ง 23 อำเภอ เข้ามายื่นกู้เงินกองทุนดังกล่าวเพื่อนำไปลงทุนประกอบอาชีพ ค้าขาย เลี้ยงสัตว์ และอาชีพอื่นๆ ตามความถนัดรวมทั้งสิ้นกว่า 2,000 ราย เฉลี่ยรายละ 20,000-40,000 บาท รวมเป็นเงินกว่า 30 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม ในจำนวนนี้ได้มีผู้พิการที่กู้ยืมเงินกองทุนฯ ดังกล่าวไปประกอบอาชีพ แต่ไม่ชำระเงินคืนตามเงื่อนไขสัญญาภายในระยะเวลา 5 ปี อยู่จำนวน 714 ราย รวมเป็นเงินที่ค้างชำระทั้งสิ้นกว่า 15 ล้านบาท โดยสาเหตุส่วนใหญ่ที่ผู้พิการค้างชำระ เนื่องจากประสบปัญหาด้านการประกอบอาชีพ และบางส่วนย้ายถิ่นฐานไปอยู่ที่อื่น
กรณีดังกล่าวทางสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ฯ ได้ส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปเร่งรัดติดตามทั้งกับผู้กู้และผู้ค้ำประกัน ให้เข้ามาเจรจาไกล่เกลี่ยและผ่อนชำระเงินที่กู้ยืมไป เพื่อนำเงินเข้ากองทุนฯ ให้คนพิการรายใหม่ได้กู้ยืมไปลงทุนประกอบอาชีพหาเลี้ยงตนเอง ไม่เป็นภาระของครอบครัวและสังคม แต่หากยังเพิกเฉยก็จำเป็นจะต้องดำเนินการตามขั้นตอนกฎหมายต่อไป
นางไพรวรรณกล่าวอีกว่า ขณะนี้ได้มีผู้พิการรายใหม่เข้ามายื่นความจำนงขอกู้ยืมเงินกองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ เพื่อนำไปลงทุนประกอบอาชีพแล้วกว่า 400 ราย แต่ยังไม่สามารถอนุมัติเงินกู้ได้ จึงร้องขอให้ผู้พิการที่ค้างชำระเงินกู้ ได้นำเงินมาชำระคืนกองทุนฯ เพื่อที่จะได้นำเงินดังกล่าวให้ผู้พิการรายใหม่กู้ยืมไปลงทุนประกอบอาชีพหาเลี้ยงตนเอง ไม่เป็นภาระของครอบครัว และสังคม
ทั้งนี้ จากข้อมูลสถิติพบว่าปัจจุบันมีคนพิการมาจดทะเบียนไว้ทั้งจังหวัดกว่า 40,000 ราย และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้พิการทางการเคลื่อนไหว สายตา การสื่อความหมาย และพิการทางการได้ยิน