พิจิตร - นโยบายค่าจ้างแรงงานวันละ 300 บาท-ป.ตรี 15,000 บาทของรัฐบาล “ปู-ยิ่งลักษณ์ และพรรคเพื่อไทย” ทำโรงเรียนพิจิตรเกือบ 100 แห่งป่วน ถูกครูจ้างสอนคอมพ์-ภารโรงขอเงินเดือนเพิ่ม จนผู้บริหารต้องวิ่งโร่หารือ อบจ.ของบเพิ่ม หวั่นถูกฟ้องศาลปกครอง-ศาลแรงงาน ขณะที่นายก อบจ.บอกหมดปัญญา แนะทำสัญญาใหม่ หรือจับฉลากให้ออกลดจำนวนครูให้เท่ากับงบ
วันนี้ (21 ส.ค.) นายชาติชาย เจียมศรีพงษ์ นายก อบจ.พิจิตร เปิดเผยภายหลังประชุมผู้บริหารโรงเรียนระดับประถม-มัธยม จำนวน 79 แห่งว่า ตามที่ อบจ.พิจิตร สนับสนุนงบประมาณปีละเกือบ 7 ล้านบาทให้ผู้บริหารสถานศึกษานำไปจ้างครูสอนคอมพิวเตอร์ตามดุลพินิจ และอำนาจที่เหมาะสม ซึ่งเป็นการอุดหนุนแบบจ่ายขาดไม่มีพันธะผูกพันกับ อบจ.พิจิตร ผู้บริหารโรงเรียนต่างๆ นำไปบริหารจัดการจ่ายเงินเดือนเป็นอัตราจ้างเดือนละ 8,300 บาท แต่ปรากฏว่าด้วยนโยบายของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐบาล ที่กำหนดว่าสิ้นปีนี้จะให้ปรับค่าแรงขั้นต่ำวันละ 300 บาท จบปริญญาตรีจะต้องได้เงินเดือน 15,000 บาท จึงทำให้ครูจ้างสอนคอมพิวเตอร์ตามโรงเรียนต่างๆ ออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องขอเงินเดือนเดือนละ 15,000 บาท
จนทำให้บรรดาผู้บริหารโรงเรียนรวมตัวกันประชุมปรึกษาหารือกับคณะผู้บริหารของ อบจ.พิจิตร ซึ่งได้ข้อสรุปว่า อบจ.พิจิตรไม่สามารถจะหาเงินจำนวนดังกล่าวมาจ่ายให้ได้ เนื่องจากภาระที่มีอยู่ก็หนักมากพออยู่แล้ว จึงให้คำแนะนำผู้บริหารของโรงเรียนต่างๆ ว่า หากต้องจ้างครูสอนคอมพิวเตอร์เหล่านั้นต่อแล้วไม่จ่ายตามนโยบายของรัฐบาลก็อาจถูกฟ้องต่อศาลปกครองหรือถูกฟ้องร้องศาลแรงงาน ซึ่งความผิดคงไม่ตกแก่ อบจ.พิจิตรที่เป็นผู้สนับสนุนงบประมาณ แต่ความผิดจะไปตกแก่ผู้บริหารโรงเรียนต่างๆ ที่เป็นผู้ว่าจ้าง
นายชาติชายบอกว่า ตนได้แจ้งต่อที่ประชุมผู้บริหารโรงเรียนว่า อบจ.พิจิตรไม่สามารถจะจัดงบเพิ่มเติมให้ได้อีกแล้ว จึงไม่สามารถสนองนโยบายของรัฐบาลได้ เนื่องจากไม่มีเงินมากพอขนาดนั้น ดังนั้นถ้าครูที่มีอยู่ประสงค์จะรับจ้างสอนคอมพิวเตอร์ต่อไปก็ต้องทำสัญญากันใหม่ว่าพึงพอใจกับเงินเดือนในอัตรา 8,300 บาท ไม่เช่นนั้นก็ต้องลดจำนวนครูผู้สอนเพื่อเอาเงินไปเพิ่มให้คนที่ว่าจ้างให้เป็นครู และต้องให้วิ่งรอกสอนคนละอย่างน้อย 2-3 โรงเรียน ซึ่งถ้าทำตามวิธีนี้จะต้องใช้วิธีจับฉลากให้ออกเกือบครึ่งหนึ่งของจำนวนครูที่มีอยู่
นอกจากนี้ ผู้อำนวยการโรงเรียนมัธยมศึกษาแห่งหนึ่งก็ยังได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า นักการภารโรงที่จ้างในอัตราเงินเดือน 6,700 บาท/เดือน ก็เรียกร้องจะเอาเงินเดือนเดือนละ 9,000 บาท หรือวันละ 300 บาทด้วย จึงทำให้โรงเรียนหลายแห่งขาดแคลนภารโรงเช่นกัน