xs
xsm
sm
md
lg

“สมศักดิ์-มัชฌิมา” อัดจำนำข้าว เชื่อปี 58 ข้าวลาว-เขมรทะลัก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สุโขทัย - “สมศักดิ์ เทพสุทิน” จวกนโยบายจำนำข้าวตามนโยบายประชานิยม ชี้หลังปี 58 เปิด AEC ข้าวเขมร-ลาวทะลักเข้ารัฐบาลจะมีปัญญาไปกู้เงินที่ไหนมาอุ้มข้าวไทยอีก หนุนปลูกปาล์มแทน ยันพิสูจน์แล้ว สุโขทัยน้ำน้อยยังได้ผลผลิต 4.5 ตัน/ไร่/ปี ชี้พืชพลังงานความต้องการใช้เพิ่มแน่

นายสมศักดิ์ เทพสุทิน อดีตรองนายกรัฐมนตรี แกนนำกลุ่มมัชฌิมา กล่าวว่า การที่ชาวทุ่งรังสิตเปลี่ยนจากส้มเขียวหวานหันมาปลูกปาล์มน้ำมันกว่า 12,000 ไร่ ให้ผลผลิต 5,000-6,000 กก./ไร่/ปี วันนี้เส้นทางความสำเร็จในการปลูกปาล์มของที่นี่จึงมักถูกนำไปเป็นต้นแบบความสำเร็จของการปลูกปาล์มนอกเหนือภาคใต้ เป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องเหมาะสม และตนเองก็ได้ลงทุนปลูกปาล์มที่สุโขทัยเช่นกัน ซึ่งนักวิชาการบอกว่าปลูกไม่ได้เพราะพื้นที่ปลูกปาล์มต้องมีปริมาณน้ำฝน 2,200 มิลลิเมตร/ปีจึงจะสามารถเจริญเติบโตได้ดี แต่ที่สุโขทัยมีปริมาณน้ำฝนเพียง 1,200 มิลลิเมตร/ปีเท่านั้น

แต่ถึงวันนี้มีบทพิสูจน์ที่หักล้างข้อมูลนี้คือ ตนได้ปลูกปาล์มมาแล้วกว่า 7 ปี โดยเลือกปลูกพันธุ์สุราษฎร์ธานี 1 และ 2 บนพื้นที่ 20 ไร่ เพื่อทดลองดูว่าจะให้ผลผลิตดีหรือไม่ ซึ่งไม่น่าเชื่อสุโขทัยที่มีปริมาณน้ำฝนต่อปีน้อยมาก ในปีที่ 5-6 ปรากฏว่าได้ผลผลิตเฉลี่ยมากกว่าภาคใต้ที่บอกว่าได้ 3 ตัน/ไร่/ปี แต่ในสวนของตนได้ 4.5 ตัน/ไร่/ปี

ซึ่งก็เท่ากับว่าสุโขทัย หรือจังหวัดอื่นๆ ที่มีปริมาณน้ำฝนน้อยก็น่าจะปลูกปาล์มได้ เพียงแต่ต้องอาศัยการให้น้ำทางดินชดเชย และมีระบบการจัดการน้ำทางภาคพื้นดิน ก็จะช่วยทำให้ปาล์มน้ำมันมีผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้นได้

“มีพี่น้องภาคใต้ย้ายถิ่นฐานมาอยู่สุโขทัย เขาก็ปลูกกันทั้งๆ ที่เขาไม่ได้ให้น้ำทางภาคพื้นดิน แต่ปรากฏว่าเขาก็ได้ผลผลิตในระดับที่น่าพึงพอใจ ปาล์มมีทะลายดก และมีแนวโน้มให้ผลผลิตสูง นั่นเป็นเพราะแดดออกดีกว่าทางภาคใต้”

นายสมศักดิ์บอกอีกว่า ประเทศเรามีความต้องการน้ำมัน หรือพลังงานทดแทนสูงมาก เรามีปาล์มปลูกอยู่เพียง 4.5 ล้านไร่ แต่ความต้องการมีสูงถึง 10 ล้านไร่

“สูตรการผสมน้ำมันในประเทศไทยจะใช้น้ำมันปาล์มผสม 5 เปอร์เซ็นต์ เรียกว่า B5 แต่ถ้าในประเทศที่เจริญแล้วอย่างอเมริกา ฝรั่งเศส จะใช้ผสมถึง 20 เปอร์เซ็นต์ ส่วนเยอรมนีเขาใช้ B100 ไม่ใช้น้ำมันใต้ดินกันแล้ว แต่เขาใช้น้ำมันจากพืชเติมรถยนต์ ขณะที่ประเทศไทยใช้น้ำมันเกือบ 20,000 ล้านลิตรต่อปี ถ้าเป็น B5 จะต้องใช้น้ำมันปาล์มถึง 1,000 ล้านลิตร”

นายสมศักดิ์กล่าวต่อว่า ประเทศไทยเก็บผลผลิตน้ำมันปาล์มได้จริงเพียง 3 ล้านไร่ และใน 3 ล้านไร่ผลิตน้ำมันได้ 2,200 ล้านลิตร ใน 2,200 ล้านลิตรถ้าเอาไปผสมน้ำมันขายตามปั๊มก็ยังไม่พอใช้ แต่ถ้าเป็น B20 ต้องใช้น้ำมันปาล์มถึง 4,000 ล้านลิตร ก็ต้องปลูกเพิ่มเป็น 6 ล้านไร่ จึงจะได้ 4,000 ล้านลิตร

นายสมศักดิ์บอกอีกว่า เกษตรกรไม่ต้องกลัวเรื่องราคา เพราะปาล์มคือน้ำมันดีเซลสามารถช่วยตัวมันเองได้ ซึ่งไม่เหมือนข้าวที่รัฐบาลต้องคอยอุ้ม ถ้าวันไหนรัฐบาลจน เกษตรกรลำบากแน่ ปาล์มน้ำมันคือทางรอดหนึ่งของประเทศ ไม่ใช่ให้ปลูกแต่ข้าว แล้วก็นำเงินงบประมาณมารับจำนำ เงินที่จะนำไปทำถนน สร้างแหล่งน้ำ หรือพัฒนาเรื่องการศึกษาอื่นๆ ก็ต้องถูกดึงมาเกื้อหนุนกับโครงการนี้ เพราะจริงๆ แล้วราคาขายข้าวไม่น่าจะเกิน 10,000 บาท แต่รัฐบาลต้องมาซื้อ 15,000 บาท เพราะได้ประกาศไปแล้ว สร้างความนิยมให้เกิดขึ้นไปแล้ว

นายสมศักดิ์บอกว่า เราเปิดเสรีอาเซียนปี 2558 เขมรมาไทย ไทยไปลาว ลาวไปพม่า สามารถไปได้แบบเสรี สินค้าที่จะขายสามารถขนไปขายได้อย่างเสรี แล้วถ้าหากข้าวจากพม่า จากลาว ทะลักเข้ามาในประเทศไทย ตนก็ไม่ทราบว่ารัฐบาลชุดต่อๆ ไปจะมีปัญญาไปกู้เงินมาอุ้มราคาข้าวของพี่น้องเกษตรกรชาวไทยได้หรือเปล่า

แต่ปาล์มน้ำมันแตกต่างจากพืชตัวอื่น เพราะพืชสวนชนิดอื่นเมื่อปลูกมากๆ ผลผลิตจะออกพร้อมกัน ส่งผลให้ตลาดตัน ราคาตกต่ำ ไม่มีสถานที่ขาย และไม่รู้จะขายให้ใคร สุดท้ายจำเป็นต้องปล่อยเน่าคาสวน แต่ปาล์มน้ำมันเมื่อปลูกมากๆ ราคาก็ยังคงสูง มีตลาดรองรับ มีความต้องการอุปโภคบริโภคตลอด

“ผมอยากให้คิดไปถึงการสร้างโรงงานอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มระดับชุมชนให้พี่น้องเกษตรกรทุกคนได้มีส่วนร่วมในการเป็นเจ้าของด้วยการลงหุ้นกัน เบ็ดเสร็จหุ้นในส่วนของพี่น้องเกษตรกรอาจจะ 50% แล้วอีก 50% ดึงหุ้นส่วนที่มีความสามารถ อาจจะเป็นเจ้าของสายพันธุ์ปาล์มต่างๆ หรือโรงงานเอกชนที่เขามีอยู่แล้วเข้ามาถือหุ้นร่วม แล้วเราจะได้โรงงานเป็นของเกษตรกร เป็นของชุมชน”

แกนนำกลุ่มมัชฌิมาบอกอีกว่า ได้สอบถามผู้จัดการโรงงานไฟฟ้า ทราบมาว่าเรายังมีความต้องการใช้ไฟฟ้าอีกจำนวนมาก ดังนั้นกากปาล์มที่เป็นของเหลือจากการบีบน้ำมันสามารถนำมาสร้างกระแสไฟฟ้าได้ โดยการตั้งโรงงานไฟฟ้าขนาด 8 เมกะวัตต์ ก็จะทำให้มีรายได้จากการจำหน่ายไฟฟ้าอีกทางหนึ่ง

นายสมศักดิ์ยังกล่าวถึงเรื่องโรงงานที่จะเข้ามาตั้งใน จ.สุโขทัยว่า อยากจะให้เกษตรกรได้มีส่วนร่วมเป็นเจ้าของโรงงาน โดยถือหุ้นร่วมกับบริษัทใหญ่ที่จะเข้ามา เช่น ใครปลูกปาล์ม 5 ไร่ ก็ถือ 5 หุ้น 10 ไร่ก็ 10 หุ้น เก็บเงินเมื่อนำปาล์มน้ำมันไปขาย อาจจะหุ้นละ 100, 200 หรือ 300 บาท เป็นต้น เมื่อเกษตรกรเป็นเจ้าของอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันใน จ.สุโขทัย ถ้าบริษัทมีกำไรจากการขายน้ำมันเท่าไหร่ เขาก็ต้องนำมาแบ่งให้ผู้ถือหุ้นเหมือนระบบอ้อย เกษตรกรไม่มีทางขาดทุน นี่คือแนวทางของอุตสาหกรรมปาล์มที่จะเกิดขึ้น

กำลังโหลดความคิดเห็น