ศูนย์ข่าวศรีราชา -ป.ป.ท. ลงพื้นที่ท่าเรือแหลมฉบัง ตรวจรถหรูนำเข้าจากต่างประเทศ พบที่ผ่านมา รัฐสูญเสียรายได้ จากภาษีนำเข้าปีละ 70,000 ล้านบาท
วันนี้ (10 ส.ค.) ที่โกดังท่าเรือ C3 ท่าเรือแหลมฉบัง อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี พ.ต.อ.ดุษฏี อารยวุฒิ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) และคณะ พร้อมนายยุทธนา หยิมการุณ รองอธิบดีกรมศุลกากร ได้เดินทางที่โกดังดังกล่าว เพื่อมาตรวจสอบขั้นตอนการทำงานของเจ้าหน้าที่ศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง
ทั้งนี้ เพื่อให้ความเป็นธรรมกับเจ้าหน้าที่ หลัง ป.ป.ท. ตรวจพบว่า มีเจ้าหน้าที่ศุลกากรหลายคนเข้าไปเกี่ยวข้องในการแบกรับภาษีรถยนต์ที่ต่ำกว่าราคาจริง จึงมาตรวจสอบว่าจุดไหนผิดพลาด หรือมีข้อจำกัดแบบไหนอย่างไร ถึงต้องแบบรับราคารถไป
การมาตรวจสอบครั้งนี้ เป็นเพียงมาตั้งข้อสังเกตเท่านั้น ว่าจุดไหนควรจะทำให้ดีกว่านี้ หรือจุดไหนมีข้อบกพร่องอย่างไร โดยได้มาปรึกษาหารือกันเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบ เพื่อทำการปรับปรุงให้ดีขึ้น โดยก่อนที่ใครจะมากล่าวหาศุลกากรกระทำไม่ถูกต้อง ควรต้องมีข้อมูลที่มากกว่านี้
พ.ต.อ.ดุษฏี กล่าวว่า ทุกวันนี้ เจ้าหน้าที่มีการปลดปล่อยรถออกไปทุกวัน โดยตนไม่ต้องการให้มีการกระทำความผิดเหมือนที่ผ่านมา จึงต้องการเคลียร์ของเก่าให้หมดไป เพื่อไม่ให้ของใหม่เกิดปัญหาขึ้นมาอีก ซึ่งที่ผ่านมา ข้อจำกัดในการปลดปล่อยสินค้าไปนั้น มีข้อจำกัดตรงไหนที่เจ้าหน้าที่ไม่ทราบราคาที่แท้จริง ดังนั้น จะต้องหาวิธีการแก้ไข เพราะในความเป็นจริงแล้ว การจัดเก็บภาษีต่างๆ นั้น เจ้าหน้าที่ศุลกากรควรจะจัดเก็บอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย
ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่อาจไม่สามารถกระทำการได้อย่างเต็มที่ เพราะอาจถูกผู้ใหญ่ ของบ้านเมืองมาบีบบังคับหรือไม่อย่างไร โดยการเดินทางมาในวันนี้ เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานของศุลกากร ว่า ทาง ป.ป.ท. ทำงานอย่างตรงไปตรงมา หากเจ้าหน้าที่กระทำถูกต้องแล้ว เมื่อเกิดปัญหาเกิดขึ้น ป.ป.ท.พร้อมให้การช่วยเหลืออย่างเต็มที่
พ.ต.อ.ดุษฏี กล่าวต่อไปว่า ที่ผ่านมา จากการตรวจสอบพบว่า การปลดปล่อยสินค้าไปนั้น มีการจัดเก็บภาษีที่ต่ำมาก เพราะมีการสำแดงสินค้าที่ต่ำกว่าต้นทุนมาก จึงเป็นจุดหนึ่งที่จะทำให้เจ้าหน้าที่อาจกระทำการทุจริตเพื่อนำรายได้เข้ากระเป๋าตัวเอง ซึ่งเรื่องนี้หากตรวจสอบพบจะต้องดำเนินคดีทางอาญา และทางแพ่งด้วย
ขณะนี้ ทราบว่าการนำสินค้าเข้ามาถึงท่าเรือแหลมฉบังนั้นอย่างถูกต้อง แต่จะนำสินค้าออกไปยังมีปัญหา เพราะใบอินวอยซ์สินค้าไม่น่าจะถูกต้อง ทำให้ผู้นำสินค้าเข้าไปกล้ามาแสดงตัวรับสินค้าดังกล่าว
พ.ต.อ.ดุษฏี กล่าวว่า ปัญหาเกิดขึ้น มีมาตั้งแต่ปี 2551 ถึงปัจจุบัน แต่หลักฐานต่างๆ ที่ได้รับนั้นย้อนหลังปีกว่าๆ เท่านั้น อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่จะพยายามกระทำให้หมดโดยเร็ว ซึ่งที่ผ่านมา ปัญหาที่เกิดขึ้นสร้างความเสียหายต่อรัฐบาลปีละประมาณ 70,000 ล้านบาท
ขณะนี้ มีรถยนต์ตกค้าง และยังไม่ได้นำออกไป รวมทั้งสิ้น 1,680 คัน โดยเป็นรถหรูหลากหลายยี่ห้อ และมีหลายบริษัทที่นำเข้ามา ซึ่งอยู่ในโกดังที่ท่าเรือแหลมฉบังประมาณ 1,000 คัน ส่วนที่เหลือมีที่ลาดกระบัง และท่าเรือกรุงเทพ
ด้านยุทธนา พูลพิพัฒน์ ผู้อำนวยการส่วนบริการศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง กล่าวว่า สำหรับรถหรูต่างๆ นั้น สามารถเก็บไว้ในโกดัง เป็นระยะเวลา 90 วัน แต่หลังจาก 90 วันแล้ว ทางศุลกากรจะมีหนังสือแจ้งเตือนไปยังตัวแทนสินค้าให้มานำสินค้าออกไป ซึ่งในช่วงนี้ จะให้ระยะเวลาอีก 30 วัน หากหลังจากนั้น ไม่มานำสินค้าออกไป สินค้าทั้งหมดจะตกเป็นสมบัติของแผ่นดินทันที แต่ในช่วงนี้ยังไม่ถึง 90 วัน จึงยังไม่ได้แจ้งให้เจ้าของสินค้าทราบ