xs
xsm
sm
md
lg

สาธารณสุข-ผู้ประกอบการร่วมพัฒนาตลาดสดเชียงใหม่ ตั้งเป้าขึ้นชั้นตลาดสดน่าซื้อ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - สสจ.เชียงใหม่จับมือผู้ประกอบการตลาดประชุมเชิงปฏิบัติการ หาแนวทางพัฒนาตลาดสดเชียงใหม่ผ่านมาตรฐานตลาดสดน่าซื้อ ระบุตลาดยุคใหม่ต้องขายสินค้ามีคุณภาพ-สิ่งแวดล้อมได้มาตรฐาน-ไม่ก่อปัญหาพื้นที่ข้างเคียง ชี้เจ้าของตลาดและภาครัฐต้องร่วมมือกัน หากทำได้ประชาชนได้ประโยชน์สูงสุด

วันนี้ (1 ส.ค.) เครือข่ายตลาดสดน่าซื้อ จังหวัดเชียงใหม่ ร่วมกับกลุ่มงานอนามัยสิ่งแวดล้อม สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการการพัฒนาตลาดสดน่าซื้อสู่มาตรฐานขึ้น ณ ห้องรอยัลออร์คิดบอลรูม โรงแรมเชียงใหม่ออร์คิด จังหวัดเชียงใหม่ โดยมี ดร.ทพ.สุรสิงห์ วิศรุตรัตน รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานในพิธี

การจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้มีเป้าหมายเพื่อหารือกับผู้ประกอบการตลาดสดในจังหวัดเชียงใหม่ ในการร่วมกันพัฒนาให้ตลาดสดประเภทที่ 1 หรือตลาดที่มีโครงสร้างและดำเนินการเป็นประจำทุกแห่งในจังหวัดเชียงใหม่ให้สามารถพัฒนาตลาดจนอยู่ในระดับที่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานตลาดสดน่าซื้อของกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุขได้ โดยมีผู้ประกอบการค้าตลาดสดประเภทที่ 1 จำนวน 78 แห่ง จากทุกอำเภอของจังหวัดเชียงใหม่เข้าร่วม

ในการประชุมดังกล่าว นอกจากมีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างกลุ่มผู้ประกอบการถึงแนวทางความร่วมมือในการพัฒนาตลาดสดให้ผ่านเกณฑ์มาตรฐานตลาดสดน่าซื้อแล้ว ยังมีการบรรยายให้ความรู้เกี่ยวกับการบริหารตลาดสด โดยนายคำนวณ มุสิกาวัน ผู้บริหารตลาดเสรี ซึ่งเป็นตลาดสดมาตรฐานระดับห้าดาวของจังหวัดนครปฐม รวมทั้งการแสดงนิทรรศการการพัฒนาสู้ตลาดมาตรฐานของตลาดต่างๆ ในจังหวัดเชียงใหม่ที่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานอีกด้วย

ดร.ทพ.สุรสิงห์ วิศรุตรัตน รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวถึงการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้ว่า การพัฒนาตลาดต่างๆ ในจังหวัดเชียงใหม่ให้ได้มาตรฐานนั้นถือเป็นสิ่งที่ต้องพยายามทำให้เกิดขึ้นให้ได้มากที่สุด เนื่องจากหากตลาดสดผ่านเกณฑ์มาตรฐานต่างๆ ได้แล้ว ผู้บริโภคก็จะเป็นผู้ที่ได้รับประโยชน์โดยตรง โดยสิ่งที่ต้องเน้นย้ำให้ผู้ประกอบการค้าตลาดสดได้ให้ความสำคัญก็คือ การจัดจำหน่ายสินค้าที่มีคุณภาพ เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพของประชาชน รวมทั้งมีการจัดการสภาพแวดล้อมทุกด้านอย่างถูกต้องเหมาะสมและไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อพื้นที่ข้างเคียง

ดร.ทพ.สุรสิงห์กล่าวต่อว่า ขณะเดียวกันยังต้องปรับเปลี่ยนทัศนคติของผู้ประกอบการควบคู่กันไปด้วย เนื่องจากแต่เดิมการทำธุรกิจตลาดนั้นเน้นไปที่ผลกำไรมากกว่าการลงทุนในเชิงโครงสร้างหรือสภาพแวดล้อม แต่ในปัจจุบันหากยังคงแนวความคิดเช่นนี้อยู่ก็จะทำให้ตลาดเกิดปัญหาในด้านสุขลักษณะและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งจะไม่ได้รับความนิยมจากประชาชน ดังนั้นจึงต้องชักจูงใจให้ผู้ประกอบการเห็นถึงความจำเป็นและโอกาสที่จะได้รับจากการพัฒนาตลาดสดให้ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน

รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่กล่าวว่า ตลาดที่สนใจและต้องการพัฒนาสามารถดำเนินการตามแนวทางที่มีการกำหนดเอาไว้ และเมื่อทำการพัฒนาแล้วสามารถแจ้งให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเข้าไปประเมินคุณภาพเพื่อดูว่าผ่านเกณฑ์มาตรฐานหรือไม่ และสมควรอยู่ในระดับใด จากนั้นจึงจะเป็นหน้าที่ของท้องถิ่นในการติดตามตรวจสอบว่าตลาดนั้นๆ ยังสามารถรักษาคุณภาพมาตรฐานไว้ได้หรือไม่ หากในอนาคตพบว่าตลาดไม่ได้มาตรฐานที่กำหนดไว้ก็สามารถเพิกถอนระดับที่ได้รับได้

ขณะเดียวกันยังได้เสริมสร้างการมีส่วนร่วม ด้วยการให้เจ้าของตลาดเข้ามามีส่วนในการพัฒนาและตรวจสอบมาตรฐานของตลาดของตน โดยในปัจจุบันได้เปิดโอกาสให้เจ้าของตลาดแต่ละแห่งสามารถนำตัวอย่างสินค้าอย่างผักและผลไม้ที่จำหน่ายในตลาดของตนมาให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ตรวจสอบ เพื่อดูว่าสินค้าที่นำมาจำหน่ายมีการปนเปื้อนหรือมีสารเคมีตกค้างหรือไม่ เป็นต้น

ทั้งนี้ จากข้อมูลตลาดสดประเภทที่ 1 ของจังหวัดเชียงใหม่ในปี 2555 พบว่ามีจำนวนทั้งสิ้น 78 แห่ง จากทั้ง 25 อำเภอของจังหวัดเชียงใหม่ เพิ่มขึ้นจากปี 2554 ที่มี 77 แห่ง โดยในปี 2554 ที่ผ่านมามีตลาดสดที่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานตลาดสดน่าซื้อระดับดีและดีมาก จำนวน 62 แห่ง ส่วนอีก 15 แห่งยังไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน
กำลังโหลดความคิดเห็น