ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - บีโอไอเผยตัวเลขภาวการณ์การลงทุนภาคเหนือช่วงครึ่งปีแรกปี 55 มีโครงการขอรับการส่งเสริม 52 โครงการ 7,000 กว่าล้านบาท ส่วนโครงการที่ได้รับการส่งเสริมแล้วมี 53 โครงการ 22,500 ล้านบาท เป็นอุตสาหกรรมเกษตรฯ มากที่สุด ชี้ญี่ปุ่นยังลงทุนมากที่สุดทั้งที่ขอรับการส่งเสริมแล้ว-สอบถามข้อมูล-เริ่มหาพื้นที่ เผยส่วนหนึ่งเล็งกระจายการผลิตจากภาคกลางลดความเสี่ยงปัญหาน้ำท่วม พร้อมแนะจับตา ศก.ยุโรปอาจส่งผลยอดส่งออกอิเล็กทรอนิกส์ลด
นายสมมาตย์ ตั้งสกุล ผู้อำนวยการศูนย์เศรษฐกิจการลงทุนภาคที่ 1 เปิดเผยถึงภาวะการลงทุนในภาคเหนือช่วงครึ่งปีแรกของปี 2555 ว่า ในพื้นที่ภาคเหนือ 17 จังหวัดมีโครงการที่ขอรับการส่งเสริมการลงทุนจำนวน 52 โครงการ เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2554 ที่มีโครงการขอรับการส่งเสริมการลงทุนจำนวน 51 โครงการ อย่างไรก็ตาม มูลค่าการลงทุนนั้นลดลงจากปีที่ผ่านมา โดยในช่วงครึ่งแรกของปี 2555 โครงการที่ขอรับการส่งเสริมการลงทุนมีมูลค่า 7,152.1 ล้านบาท ซึ่งลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2554 ที่มีมูลคาการลงทุน 7,370.9 ล้านบาท
โดยโครงการที่ขอรับการส่งเสริมการลงทุนในภาคเหนือช่วงครึ่งปีแรกของปี 2555 พบว่าอุตสาหกรรมการเกษตรและผลิตผลจากการเกษตรเป็นโครงการที่ขอรับการส่งเสริมการลงทุนมากที่สุด จำนวน 19 โครงการ มูลค่าการลงทุน 1,485.2 ล้านบาท รองลงมาได้แก่อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า จำนวน 11 โครงการ มูลค่าการลงทุน 1,123.2 ล้านบาท และอุตสาหกรรมบริการและสาธารณูปโภค จำนวน 9 โครงการ มูลค่าการลงทุนรวม 711.2 ล้านบาท
ขณะที่โครงการที่ได้รับการส่งเสริมจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ ในพื้นที่ภาคเหนือช่วงครึ่งปีแรกของปี 2555 มีทั้งสิ้น 53 โครงการ มูลค่าการลงทุน 22,551.9 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาซึ่งมีโครงการได้รับการส่งเสริมรวมทั้งสิ้น 49 โครงการ มูลค่าการลงทุน 18,878.4 ล้านบาท โดยอุตสาหกรรมที่ได้รับการส่งเสริมมากที่สุดได้แก่อุตสาหกรรมการเกษตรและผลิตผลจากการเกษตร จำนวน 19 โครงการ มูลค่าการลงทุน 2,239.9 ล้านบาท รองลงมาได้แก่อุตสาหกรรมบริการและสาธารณูปโภค จำนวน 15 โครงการ มูลค่าการลงทุน 18,157.5 ล้านบาท และอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า จำนวน 11 โครงการ มูลค่าการลงทุน 877.4 ล้านบาท
นายสมมาตย์กล่าวต่อไปว่า จากตัวเลขดังกล่าว หากแบ่งตามพื้นที่ภาคเหนือตอนบน 8 จังหวัด และภาคเหนือตอนล่าง 9 จังหวัดแล้ว ในภาคเหนือตอนบนมีโครงการที่ขอรับการส่งเสริมการลงทุนรวม 37 โครงการ มูลค่าการลงทุน 5,246.7 ล้านบาท โดยโครงการที่ยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนใน 3 อันดับแรกประกอบด้วย อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์โลหะและชิ้นส่วนโลหะ และอุตสาหกรรมการเกษตรและผลิตผลจากการเกษตร ส่วนโครงการที่ได้รับการส่งเสริมจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนมีทั้งสิ้น 39 โครงการ มูลค่าการลงทุน 11,560.4 ล้านบาท โดยโครงการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนใน 3 อันดับแรกประกอบด้วยอุตสาหกรรมการเกษตรและผลิตผลจากการเกษตร อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า และอุตสาหกรรมบริการและสาธารณูปโภค
ขณะที่ภาคเหนือตอนล่างมีโครงการที่ขอรับการส่งเสริมการลงทุนรวม 15 โครงการ มูลค่าการลงทุน 1,905.4 ล้านบาท โดยโครงการที่ยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนได้แก่อุตสาหกรรมการเกษตรและผลิตผลจากการเกษตร อุตสาหกรรมการแต่งแร่เหล็ก อุตสาหกรรมการผลิตตะเกียบ และอุตสาหกรรมการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงชีวมวล ส่วนโครงการที่ได้รับการส่งเสริมจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนมีทั้งสิ้น 14 โครงการ มูลค่าการลงทุน 10,991.5 ล้านบาท โดยโครงการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนได้แก่อุตสาหกรรมการเกษตรและผลิตผลจากการเกษตร และอุตสาหกรรมบริการและสาธารณูปโภค
ผู้อำนวยการศูนย์เศรษฐกิจการลงทุนภาคที่ 1 กล่าวต่อไปว่า นักลงทุนจากประเทศญี่ปุ่นยังคงเป็นนักลงทุนรายใหญ่ที่มีการลงทุนในพื้นที่มากที่สุด โดยในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2555 มีโครงการของนักลงทุนจากประเทศญี่ปุ่นที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนแล้วจำนวน 8 โครงการ รวมทั้งยังมีนักลงทุนชาวญี่ปุ่นรายอื่นๆ ที่แสดงความสนใจที่จะเข้ามาลงทุนในพื้นที่ภาคเหนือ ทั้งจากการเข้ามาสอบถามข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือการเข้ามาแสวงหาที่ตั้งเพื่อก่อสร้างโรงงานในพื้นที่ โดยส่วนหนึ่งเป็นนักลงทุนที่มีฐานการผลิตอยู่ในพื้นที่ภาคกลางอยู่แล้ว แต่ต้องการกระจายฐานการผลิตเพื่อลดความเสี่ยงและผลกระทบหลังจากประสบปัญหาอุทกภัยในปีที่ผ่านมา
ทั้งนี้ ผู้อำนวยการศูนย์เศรษฐกิจการลงทุนภาคที่ 1 ให้ความเห็นว่า เชื่อว่าภาคเหนือยังมีโอกาสที่ดีในแง่ของการลงทุน เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีจุดแข็งด้านภาคการเกษตร ดังจะเห็นได้จากจำนวนของอุตสาหกรรมการเกษตรและผลผลิตจากการเกษตรที่ยื่นขอรับการสนับสนุนและได้รับการส่งเสริมจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน รวมทั้งยังไม่ได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติ
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ต้องจับตามองต่อไปคือปัญหาสภาวะเศรษฐกิจในยุโรป ซึ่งแม้จะไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการลงทุนในพื้นที่โดยตรง เนื่องจากกลุ่มนักลงทุนจากยุโรปยังมีจำนวนไม่มากนัก แต่ในระยะยาวอาจจะส่งผลกระทบต่อปริมาณการผลิตสินค้าเพื่อส่งออกของผู้ประกอบการ โดยเฉพาะในกลุ่มของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้าได้