อุบลราชธานี - สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 จังหวัดอุบลราชธานีเผยยังต้องเฝ้าระวังการระบาดของโรคมือ เท้า ปากในเขตอีสานใต้เพราะยังพบการระบาด แม้มีสถิติลดลง แนะศูนย์พัฒนาเด็กเล็กและโรงเรียนประถมศึกษาต้องคัดกรองเด็กทุกเช้าหลังเคารพธงชาติ หากพบมีอาการเข้าข่ายรีบแจ้งผู้ปกครองมารับเด็กไปพบแพทย์ทันที
นายแพทย์ศรายุธ อุตตมางคพงศ์ ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 จังหวัดอุบลาชธานี ซึ่งลงพื้นที่ศูนย์เด็กเล็กและโรงเรียนประถมศึกษาในเขตพื้นที่รับผิดชอบ เพื่อติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคมือ เท้า ปาก เปิดเผยว่า ได้รับรายงานจากกลุ่มระบาดวิทยาในพื้นที่รับผิดชอบของสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 อัตราผู้ป่วยยังสูงกว่าค่ามัธยฐานระดับเขตมากกว่า 3 เท่า และสูงกว่าปีที่ผ่านมาในช่วงเวลาเดียวกันมากกว่า 2 เท่า
โดยมีผู้ป่วยจำนวนทั้งสิ้น 748 ราย คิดเป็นอัตราป่วย 11.78 ต่อประชากรแสนคน แต่ยังไม่มีผู้ป่วยเสียชีวิต
สำหรับเดือนมิถุนายน 2555 มีจำนวนผู้ป่วยสูงสุดคือ 235 ราย และผู้ป่วยทุกรายเป็นเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ โดยข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-21 กรกฎาคม จังหวัดอุบลราชธานีมีผู้ป่วยสูงสุด 340 ราย ศรีสะเกษ 164 ราย ยโสธร 80 ราย อำนาจเจริญ 54 ราย มุกดาหาร 39 ราย สกลนคร 38 ราย และนครพนม 33 ราย
สำหรับพื้นที่พบผู้ป่วยล่าสุดมี อ.เมืองอุบลราชธานี อ.สิรินธร อ.เมืองยโสธร อ.ลืออำนาจ จ.อำนาจเจริญ อ.เมืองจันทร์ จ.ศรีสะเกษ
นายแพทย์ศรายุธกล่าวต่อว่า จากรายงานของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์พบว่า เชื้อโรคมือ เท้า ปาก ที่พบในประเทศไทยในปี พ.ศ. 2555 เป็นเชื้อ 2 ชนิด คือ คอกซากี เอ 16 (Coxsackie A 16) และเอนเทอโรไวรัส 71 (Enterovirus 71) โดยเชื้อเอนเทอโรไวรัสที่พบส่วนใหญ่เป็น sub-genogroup B5 โดยในพื้นที่รับผิดชอบของสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 จ.อุบลราชธานี พบจำนวน 4 รายที่จังหวัดยโสธร
สำหรับมาตรการป้องกันโรคมือ เท้า ปาก หากพบเด็กป่วย 1-2 รายควรสั่งปิดโรงเรียนเพื่อทำความสะอาดอย่างน้อย 7 วัน และฝึกให้เด็กล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำสบู่อย่างถูกวิธี พร้อมทำการคัดกรองเด็กในตอนเช้า โดยทำการตรวจสุขภาพเด็กทุกเช้าหลังจากทำกิจกรรมหน้าเสาธงเสร็จ
ทั้งนี้ หากพบมีอาการไข้สูง หรือมีตุ่มขึ้นตามมือ เท้า ปาก รีบแจ้งให้ผู้ปกครองมารับเด็กไปพบแพทย์ทันที เพื่อทำการรักษาไม่ให้โรคลุกลามจนเป็นอันตรายต่อตัวเด็กที่ป่วย