xs
xsm
sm
md
lg

เจ้าท่าแปดริ้วเผยปากอ่าวบางปะกงตัน เกิดจากหลายปัจจัย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ฉะเชิงเทรา - เจ้าท่าภูมิภาค 6 แปดริ้ว ไม่โทษน้ำมากทำสันดอนโผล่พรึบอุดปากอ่าว เผยสาเหตุเกิดจากหลายปัจจัยร่วมตามธรรมชาติ โดยมีกระชังเลี้ยงปลาเป็นตัวเร่งช่วยในการสะสมตะกอนดินจนนูนสูง พร้อมระบุ กรมเจ้าท่าส่วนกลางเคยสำรวจเตรียมขุดลอกเปิดร่องน้ำแล้ว แต่ยังไร้กำหนดการที่แน่ชัด

วันนี้ (24 ก.ค.) น.ส.เทียมจิตร อมาตยกุล หัวหน้าสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคที่ 6 สาขาฉะเชิงเทรา กล่าวถึงกรณีปากแม่น้ำบางปะกงอุดตัน จนเกิดมีสันดอน เกาะแก่งเนินดินน้อยใหญ่โผล่พรึบขึ้นมากลางลำน้ำจนเต็มล้นปากอ่าวบางปะกงว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นนี้ เริ่มมีมานานหลายปีแล้ว จนมาถึงในปีนี้ ที่ทำให้มีผู้สังเกตเห็นจนเด่นชัดที่สุดนั้น เนื่องจากการสะสมมีมากขึ้นในระดับที่จะต้องมีการขุดลอกแก้ไข โดยที่ผ่านมา ทางกรมเจ้าท่าส่วนกลางในกรุงเทพฯ ได้เคยลงพื้นที่มาสำรวจเส้นทางน้ำไปก่อนหน้าเมื่อประมาณ 4 เดือนที่ผ่านมาแล้ว เพื่อเตรียมจัดหางบประมาณมาทำการขุดลอกร่องน้ำ

ส่วนสาเหตุที่ทำให้เกิดการสะสมของตะกอนดินนั้น เป็นกระบวนการทางธรรมชาติ แต่ก็มีปัจจัยอื่นอีกหลายด้านเป็นตัวเร่ง เช่น การพัดพาตะกอนมาจากทางตอนเหนือของลำน้ำ ในช่วงเกิดน้ำท่วมใหญ่ที่มีการระบายน้ำมานั้นก็อาจเป็นเพียงส่วนหนึ่ง แต่สาเหตุที่เป็นตัวเร่งสำคัญนั้น คือ กระชังเลี้ยงปลาของชาวบ้าน ที่มีการเลี้ยงปลากะพงกันเป็นจำนวนมากหลายพันกระชัง จนเต็มแน่นปากอ่าว และขาดการดูแล จึงทำให้มีตะกอนเกิดการสะสมตัวมากยิ่งขึ้น และเมื่อตื้นเขินมากแล้วผู้เลี้ยงปลาก็จะพากันขนย้ายขยับไปสร้างกระชังยังที่แหล่งใหม่ ในบริเวณที่มีน้ำลึกกว่า จึงทำให้ทั่วทั้งปากอ่าวแม่น้ำบางปะกงมีการสะสมของตะกอนจนเต็มบริเวณพื้นที่ไปหมด

โดยระดับน้ำในแต่จุดที่บริเวณปากอ่าวนั้น มีความลึกไม่เท่ากัน เฉลี่ยในจุดที่มีตะกอนดินสะสมตัวมากจะมีความลึกเพียง 2-3 เมตรเท่านั้น ส่วนในจุดที่ลึกสุดนั้นมีระดับน้ำ 6 เมตร โดยการขุดลอกนั้นจะต้องทำให้ลึกถึง 6 เมตรเป็นอย่างน้อย

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา ทางผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทราก็ได้เคยร้องขอไปยังทางกรมเจ้าท่าให้มาทำการขุดลอกร่องน้ำแล้ว โดยให้ขุดลอกลำน้ำในบริเวณปากอ่าวลึกเข้ามาจนถึงสะพานเทพหัสดิน (สะพานข้ามแม่น้ำบางปะกง บนถนนบางนา-ตราด) แต่ยังไม่ทราบว่าจะมีกำหนดการเข้ามาขุดลอกได้เมื่อใด เพราะเป็นเรื่องของกรมเจ้าท่าส่วนกลางที่มีเรือขุด และเครื่องไม้เครื่องมือพร้อม ซึ่งมีสำนักพัฒนา และบำรุงรักษาร่องน้ำเป็นผู้ดำเนินการ โดยที่ไม่ได้แจ้งให้แก่ทางเราทราบแต่อย่างใด

ส่วนที่สำนักงานกรมเจ้าท่าภูมิภาคที่ 6 นั้น มีเรือเล็กสำหรับตรวจการณ์เพียง 1 ลำ พร้อมเจ้าหน้าที่เพียง 8 คนเท่านั้น ไม่สามารถดำเนินการใดๆ เกี่ยวกับเรื่องนี้ได้


กำลังโหลดความคิดเห็น