xs
xsm
sm
md
lg

กรุไม่แตก! แต่ขุดเจอพระนางพญา 1 ใน 5 เบญจภาคีที่วัดนางพญา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


พิษณุโลก - กรุนี้ไม่ได้แตก แต่ผู้รับเหมาขุดฝังเสาเข็มตักดินไปเจอพระนางพญา 1 ใน 5 เบญจภาคีภายในวัดนางพญา เจ้าอาวาส ยืนยันเป้นพระนางพญาสร้างในปี 14-15 รุ่นอาจารย์ถนอม เป็นประธานสร้าง เผยตั้งใจทำพลับพลาจตุรมุขเพื่อประดิษฐ์ฐาน 5 พระองค์ครอบครัวของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช แต่ผู้รับเหมาไปตักดินขึ้นมาเจอเข้าพอดี

วันนี้ (17 ก.ค.) ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งว่า มีประชาชนที่ทราบข่าวการพบพระนางพญา 1 ใน 5 เบญจภาคีที่วัดนางพญา อ.เมืองพิษณุโลก ต่างแตกตื่นแห่มามุงดูอยู่บริเวณขอบกำแพงวัด จึงเดินทางไปตรวจสอบ ภายในบริเวณพบพระนางพญาถูกปิดกั้นไม่ให้ประชาชนเข้าไปในเขตรั้ววัด เว้นแต่คนงานก่อสร้าง จากการสอบถามทราบว่า ช่วงผู้รับเหมาที่นำเครื่องจักรหนักไปปั่นดินขึ้นมาเพื่อวางเสาเข็มนั้น ขณะที่คนงานกำลังตักดินขึ้นมาจากหลุมที่ขุดลงไปแล้วกว่า 3 เมตรก็พบพระเครื่องเนื้อดินพิมพ์ต่างๆ โดยเฉพาะพระพิมพ์นางพญาปี 14 เป็นส่วนใหญ่ ทั้งพิมพ์เล็ก และพิมพ์ใหญ่ ด้านหลังปั๊มดวงตราพระฤกษ์

พระครูสุจิตธรรมวิมล เจ้าอาวาสวัดนางพญา กล่าวว่า วันนี้มีผู้รับเหมาขุดดินขึ้นมาเนื่องจากต้องการตอกเสาเข็มสร้างพลับพลาจตุรมุขที่ประทับครอบครัวของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช จำนวน 5 พระองค์ มูลค่าว่า 10 ล้านบาท เป็นที่ประดิษฐาน 5 พระองค์ คือ สมเด็จพระนเรศวร สมเด็จพระเอกาทศรถ พระสุพรรณกัลยา พระมหาธรรมราชา (พระราชบิดา) และพระวิสุทธิกษัตรีย์ พระราชมารดา ผู้สร้างวัดแห่งนี้ในสมัยอยุธยา ซึ่งเร็วๆ นี้จะทำพิธีเทหล่อพระบรมรูปภายในวัดนางพญาขนาดเท่าพระองค์จริง

แต่ในขณะที่มีการขุดหลุมฝังเสาเข็มหลายจุดนั้น มีหลุมเดียวที่ขุดพบพระเครื่องเนื้อดิน เนื่องจากสถานที่แห่งนี้เคยประกอบพิธีปลุกเสกพระในหลายยุค บางส่วนก็นำบรรจุฝังดินไว้ ส่วนพระนางพญา ที่พบเป็นพระเครื่องที่ปลุกเสกพิธีใหญ่ปั๊มเป็นดวงพระฤกษ์ สร้างไว้เมื่อปี พ.ศ. 2514-2515 นอกจากนี้ก็มีพระเครื่องพิมพ์ปางป่าเลไลยก์ สีแดงด้านหลัง ระบุสร้างปี 2515 และเนื้อดินพิมพ์พระยืนอุ้มบาตร ฯลฯ

เบื้องต้นอาตมาได้สั่งให้คนงานนำขึ้นมาเก็บไว้เป็นสมบัติของวัด ยืนยันว่าไม่ใช่พระกรุแตกเหมือนวัดอื่นๆ แต่เป็นพระใหม่ปี 14-15 ที่อดีตเจ้าอาวาสวัดนางพญารูปเก่า คือ พระอาจารย์ถนอม เขมจาโร สร้างไว้ในยุคนั้น

ทั้งนี้ บริเวณแห่งนี้เคยประกอบพิธีสร้างพระนางพญารุ่นแรกตั้งแต่ปี 2496 เรื่อยมา โดยยุคนั้นก็สร้างและนำไปฝากฝังวัดแห่งอื่นๆ จำนวน 84,000 องค์ และส่วนหนึ่งบรรจุไว้ที่บริเวณประกอบพิธี สำหรับพระนางพญาที่พบนั้นน่าจะถูกแบ่งฝังดินไว้ไม่เกินหมื่นองค์ เพื่อเป็นการสืบทอดพระพุทธศาสนาในยุคนั้น

สำหรับประวัติพระนางพญา ปี 2514 ประกอบพิธีมหาพุทธาภิเษกมหาจักรพรรดิตราธิราช ตามจารีตประเพณีโบราณาจารย์ วันเสาร์ที่ 30 มกราคม 2514 ในวิหารวัดนางพญา จ.พิษณุโลก เป็นอภิมหาพิธีพุทธาภิเษกที่ยิ่งใหญ่มากในยุคนั้น นิมนต์พระเกจิอาจารย์จากทั่วประเทศ 108 รูป

เช่น หลวงปู่โต๊ะ วัดประดู่ฉิมพลี, หลวงปู่ฝั้น, หลวงปู่ผาง, หลวงปู่แหวน, ครูบาเกษม, หลวงพ่อแพ, หลวงพ่อทบ, หลวงพ่อโอด ใช้เนื้อพระนางพญาผสมจากกรุวัดนางพญาที่แตกหักในยุคแรก ทำเป็น 2 พิมพ์ คือ พิมพ์ใหญ่ (เข่าโค้ง) และพิมพ์เล็ก (สังฆาฏิ) ยุคนั้น โดยอัญเชิญพระฤกษ์ที่ได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทำให้มี “ดวงตราพระฤกษ์” ด้านหลังพระนางพญาทุกองค์ โดยสร้างจำนวน 84,000 องค์ เป็นพิมพ์ใหญ่ (เข่าโค้ง) 2,400 องค์ พิมพ์เล็ก (สังฆาฏิ) 6,000 องค์ และพระเครื่องพิมพ์อื่นๆ อีกในยุคสมัย พล.ท.สำราญ แพทยกุล แม่ทัพภาคที่ 3 ประธานฝ่ายฆราวาส และหลวงพ่อเงิน วัดดอนยายหอม ทำพิธีดับเทียนชัย ครั้งนั้นจัดสร้างเพื่อหาจตุปัจจัยในการสร้างพระอุโบสถวัดนางพญา ทำให้พระนางพญา ปี 14 รุ่นพระอาจารย์ถนอมคนพิษณุโลกให้การยอมรับ เพราะแทนพระนางพญา 1 ใน 5 พระเบญจภาคี (นางพญา-วัดนางฯ)





กำลังโหลดความคิดเห็น