xs
xsm
sm
md
lg

“ดร.สมเกียรติ” ชี้อาเซียนเป็นโอกาส แนะการศึกษาไทยเร่งพัฒนาภาษาที่ 2

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ดร.สมเกียรติ อ่อนวิมล นักวิชาการสื่อสารมวลชนชื่อดัง
ศูนย์ข่าวศรีราชา - ดร.สมเกียรติ อ่อนวิมล นักวิชาการสื่อสารมวลชนชื่อดัง เยือนเมืองพัทยา บรรยายพิเศษเรื่องการรับรู้ และเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปี 2558 ชี้เป็นโอกาส ระบบการพัฒนาการศึกษามีความสำคัญ วอนดันพัฒนาเรื่องภาษาเพื่อโอกาสในการเปิดพรมแดน 10 ประเทศสมาชิกอาเซียน ระบุ ไม่ใชเรื่องวิตก แต่ควรมีความพร้อม ก่อนดันแหลมแท่น-บางแสนเป็นพิพิธภัณ์อาเซียน

วันนี้ (16 ก.ค.) ดร.สมเกียรติ อ่อนวิมล นักวิชาการสื่อสารมวลชนชื่อดัง ผู้ศึกษาและติดตามเรื่องประชาคมอาเซียน เดินทางมาเป็นวิทยากรบรรยายพิเศษเรื่อง “การรับรู้และเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปี 2558” ในสาระการพัฒนาการศึกษาสู่ประชาคมอาเซียน ที่ศูนย์อาเซียนศึกษา โรงเรียนเมืองพัทยา 4 (วัดหนองใหญ่) จังหวัดชลบุรี โดยมี นายศรชัย เข้มแข็ง ผู้อำนวยการโรงเรียน พร้อมคณะครู และนักเรียนให้การต้อนรับ และมีผู้บริหารท้องถิ่นเมืองพัทยา และจังหวัดชลบุรีเข้าร่วมรับฟัง เช่น นายเรวัตร ผลลูกอินทร์ รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดชลบุรี นายอิทธิพล คุณปลื้ม นายกเมืองพัทยา นายวัฒนา จันทนวรานนท์ รองนายกเมืองพัทยา นายมาโนช หนองใหญ่ รองประธานสภาเมืองพัทยา และคณะสมาชิกสภาเมืองพัทยา

ดร.สมเกียรติ กล่าวว่า ปัจจุบัน เมื่อได้ยินคำว่า “อาเซียน” หลายคนตื่นตัว และหลายคนก็ตื่นกลัวว่าจะรับมืออย่างไร จะมีผลกระทบหรือไม่ และจะตั้งรับอย่างไร ซึ่งในความเป็นจริงถือเป็น “โอกาส” อย่าคิดว่าจะเป็นผลกระทบ ประเทศไทย และประเทศสมาชิกอาเซียนรวมตัวกันมานานแล้วประมาณ 45 ปี โดยเริ่มต้นที่มีการพูดคุยถึงการรวมกลุ่มของประเทศในอาเซียนเพื่อความมั่นคงของทวีป ซึ่งตอนนั้นมีการเริ่มพูดคุยเรื่องดังกล่าวโดยตัวแทนแต่ละประเทศเข้าหารือที่บ้านแหลมแท่น บางแสน-ชลบุรีนี่เอง เรื่องประชาคมอาเซียนถือเป็นเรื่องไม่ไกลตัว เพราะฉะนั้น อย่ากลัว อย่าตั้งรับ ถือเป็นโอกาส

ทั้งนี้ ที่ผ่านมา การปฏิรูปการศึกษาเกิดขึ้นแต่บริบทยังไม่เข้ากับเด็ก ทำให้เด็กไทยขาดความคิดอ่านที่อิสระ ภาคการศึกษาไทยให้ความสนใจในเรื่องประชาคมอาเซียนเป็นอย่างมาก สิ่งสำคัญคือ ต้องเตรียมพร้อมลูกหลานให้รับทันการเปิดพรมแดน 10 ประเทศสมาชิกอาเซียนในอีก 3 ปีข้างหน้านี้ แต่การศึกษาในบ้านเราเมื่อเทียบดูในบริบทอาเซียนแล้วน่าอาย การศึกษาไทยยังไปไม่ถึงไหน ทั้งนี้ เคยแปลบทความของอาจารย์ท่านหนึ่งในสหรัฐอเมริกาเนื้อหามีอยู่ว่า “การศึกษาไม่ใช่เรื่องของการแข่งขัน เป็นเรื่องการค้นหาศักยภาพของตัวเอง”

เพราะการแข่งขันจะทำลายบรรยากาศการเรียนจนหมดสนุก เด็กต้องแข่งกันได้ที่ 1 เด็กไทยมีเก่งๆ เยอะ มีเกียรตินิยมอันดับ 1 ได้รับการยกย่อง แต่ว่าสุดท้ายก็หายไป สิ่งสำคัญของการพัฒนาคุณภาพการศึกษาคือ การพัฒนาทักษะทางการอ่าน เพราะจะทำให้เด็กมีจินตนาการและมีสุนทรียะแห่งศิลปะ การเข้าถึงทางด้านภาษาก็ไม่ใช่เรื่องยาก และถือเป็นสิ่งที่จำเป็นมากในการเตรียมความพร้อมก่อนเปิดประชาคมอาเซียน 2558 เฉพาะอย่างยิ่ง เมืองพัทยาที่มีนักท่องเที่ยวจำนวนมาก อนาคตก็จะมีการขนถ่ายแรงงานเสรีรองรับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของประเทศอาเซียนด้วยแล้ว ยิ่งหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเริ่มจากบุคลากรครูก่อนไปถึงเด็กนักเรียนต้องพูดภาอังกฤษให้ได้

ดร.สมเกียรติ กล่าวต่อไปว่า ปัจจุบัน ความเข้าใจในเรื่องประชาคมอาเซียนของคนไทยยังถือว่าไม่กว้างขวาง หรือครอบคลุมนัก เพราะหลายคนสงสัยถึงคำว่า ประชาคมอาเซียน หรือผู้สื่อข่าวบางคนออกมาใช้คำว่า AEC จนคุ้นหูกันนั้น ความจริงเราต้องเข้าใจบริบทของประชาคมอาเซียนก่อน ประชาคมอาเซียน ประกอบด้วย 3 ประชาคมย่อย ซึ่งเปรียบเสมือนสามเสาหลักซึ่งเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันได้แก่ 1.ประชาคมการเมือง และความมั่นคงอาเซียน (ASEAN Security Community-ASC) มุ่งให้ประเทศในภูมิภาคอยู่ร่วมกันอย่างสันติ มีระบบแก้ไขความขัดแย้งระหว่างกันได้ด้วยดี มีเสถียรภาพอย่างรอบด้าน มีกรอบความร่วมมือเพื่อรับมือกับภัยคุกคามความมั่นคงทั้งรูปแบบเดิม และรูปแบบใหม่ๆ เพื่อให้ประชาชนมีความปลอดภัย และมั่นคง

2.ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community-AEC) มุ่งให้เกิดการรวมตัวกันทางเศรษฐกิจ และการอำนวยความสะดวกในการติดต่อค้าขายระหว่างกัน อันจะทำให้ภูมิภาคมีความเจริญมั่งคั่ง และสามารถแข่งขันกับภูมิภาคอื่นๆ ได้ เพื่อความอยู่ดีกินดีของประชาชนในประเทศอาเซีย และ 3.ประชาคมสังคม และวัฒนธรรมอาเซียน (ASEAN Socio-Cultural Community-ASCC) เพื่อให้ประชาชนแต่ละประเทศอาเซียนอยู่ร่วมกันภายใต้แนวคิดสังคมที่เอื้ออาทร มีสวัสดิการทางสังคมที่ดี และมีความมั่นคงทางสังคม เพราะฉะนั้น คำว่า AEC เปรียบเสมือนเสาหลักของอาเซียนเท่านั้น

อย่างไรก็ดี รัฐบาลควรให้ความสำคัญเรื่องการวางรากฐานการศึกษาให้แน่น พัฒนาพื้นฐานการศึกษา ให้ความสำคัญของโอกาสทางการศึกษา ซึ่งที่ผ่านมา ก็ยังไม่ได้มีการลงรายละเอียดอะไรมากนัก ในปี 2558 ทุกโรงเรียนในประเทศไทยควรเป็น International School มีอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงให้เข้าถึงนักเรียนทุกคน และมีคอมพิวเตอร์ควบคู่กันไป อนาคตการขนย้ายแรงงานมีขึนอย่างแน่นอน เด็กไทยควรฝึกสอนให้ใช้ชีวิตแบบนักข่าว คือ ติดตามรับรู้ข่าวสารความเคลื่อนไหวความรอบรู้ทั่วไป และฝึกให้มีการคิดวิเคราะห์อย่างมีข้อมูล มีเหตุผลและคิดเป็นวิทยาศาสตร์ อย่างน้อยต้องพูดภาอังกฤษให้ได้ เพราะนอกจากจะให้ความรู้ในยามเด็กพัฒนาชีวิตต่อไปในอนาคตแล้ว ยามแก่เฒ่าก็สามารถได้สุนทรียภาพ มีความสุขส่วนตัวในการใช้ชีวิตต่อไปอีกเช่นกัน

“อนาคตอันใกล้ จะมีการพูดคุยกับผู้บริหารท้องถิ่นจังหวัดชลบุรีให้พิจารณาจัดสร้างพิพิธภัณฑ์อาเซียน ที่บริเวณแหลมแท่น-บางแสน เพื่อรวบรวมข้อมูลให้คนต่อไปได้ศึกษาและรับรู้ว่า ประชาคมอาเซียนเกิดขึ้นที่ประเทศไทยที่อยากให้การช่วยเหลือประเทศเพื่อนบ้านด้านต่างๆ ร่วมกันเพื่อความเข้มแข็ง และความมั่นคงของภูมิภาคอาเซียน ซึ่งเรื่องนี้ต้องคุยกับท้องถิ่นเพราะจะมีความเป็นไปได้มากกว่าคุยกับรัฐบาล” นักวิชาการสื่อสารมวลชนชื่อดังระบุ



กำลังโหลดความคิดเห็น