xs
xsm
sm
md
lg

“ชาวอรัญญิก” กรุงเก่าผวา ดินริมแม่น้ำเจ้าพระยาพังไม่หยุด จี้เร่งป้องกันก่อนวิกฤตหนัก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พระนครศรีอยุธยา - นายกเทศมนตรีตำบลอรัญญิก เมืองกรุงเก่า ออกสำรวจบ้านเรือนประชาชนบริเวณจุดที่เกิดทรุดตัวของดินริมแม่น้ำเจ้าพระยา พบการทรุดตัวของดินจนเห็นฐานของเสาอาคารโรงสูบน้ำของเทศบาลฯ วอนส่วนกลางเร่งดำเนินการป้องกันจุดที่มีประชาชนอาศัยอยู่หนาแน่นรวมแล้วกว่า 40 หลังคาเรือน เนื่องจากเกรงว่าหากเกิดวิกฤตน้ำท่วมอีกจะทำให้พังทลายอย่างต่อเนื่องต่อไป

วันนี้ (8 ก.ค.) นายไพบูลย์ ศรีสุข นายกเทศมนตรีตำบลอรัญญิก อ.นครหลวง จ.พระนครศรีอยุธยา ได้ออกสำรวจบริเวณจุดที่เกิดการทรุดตัวของดินริมแม่น้ำป่าสัก โดยไปที่บ้านของนายสะอิ้ง ยิ่งอ่วม อายุ 58 ปี บ้านเลขที่ 21/3 และบ้านของนายแนบ พุ่มประทุม อายุ 67 ปี หมู่ 7 ต.พระนอน อ.นครหลวง หลังจากรับแจ้งว่ามีการพังทลายของดินริมแม่น้ำและทำให้ดินบริเวณบ้านทั้ง 2 หลังเกิดการทรุดตัว พบว่าดินมีการทรุดตัวลงไปลึกกว่า 4 เมตรและเป็นทางยาวกว่า 40 เมตรตามแนวลำแม่น้ำ ทำให้บ้านของนายสอิ้ง พังไปทั้งหลังก่อนหน้านี้ และเหลืออีกประมาณ 3 เมตรก็จะถึงตัวบ้านนายแนบที่อยู่ใกล้กัน

ขณะเดียวกันพบว่ายังเกิดการทรุดตัวของดินจนเห็นฐานของเสาอาคารโรงสูบน้ำของเทศบาลฯ ซึ่งยังไม่ได้เปิดใช้งาน เกรงว่าจะพังลงมาในอีกไม่นาน

นายไพบูลย์ ศรีสุข นายกเทศมนตรีตำบลอรัญญิก เปิดเผยว่า การพังทลายของดินเกิดขึ้นมาประมาณ 3-4 ปีอย่างต่อเนื่อง ทั้งปัจจัยของเส้นทางน้ำที่เป็นทางโค้งและยังเกิดขึ้นอย่างรุนแรงในช่วงเกิดน้ำท่วมปี 2553-2554 ที่ผ่านมา เมื่อน้ำลงทำให้ดินพังทลายลงไปอย่างต่อเนื่อง รวมระยะทางจากริมแม่น้ำเข้ามายังตัวบ้านเรือนประชาชนจะพังเข้ามากว่า 20 เมตรแล้ว

นอกจากนี้ยังมีพื้นที่ใกล้เคียง เช่น ม. 6-7 ต.ท่าช้าง ในอำเภอเดียวกัน ซึ่งได้รับผลจากเส้นทางน้ำเป็นโค้งพุ่งเข้าชนตลิ่งช่วงน้ำท่วม และเมื่อน้ำลงเกิดการพังทลายยาวกว่า 300 เมตร แม้ว่าจะมีการใช้งบประมาณ 5 ล้านบาทในการสร้างแนวเขื่อนป้องกันความยาวประมาณ 30 เมตร แต่ปรากฏว่ายังเกิดการทรุดตัว เช่นเดียวกับที่วัดสีจำปา ม.6 ต.ท่าช้าง ด้วยงบจาก อบจ.ประมาณ 4 ล้านกว่าบาทแต่ก็ยังเกิดการทรุดเช่นกัน

ล่าสุดที่วัดน้อย ม.4 ต.ท่าช้าง ได้รับงบประมาณ 14 ล้านบาท อยู่ระหว่างการสร้าง แต่ก็ยังมีการทรุดตัวเช่นกัน ทำให้เห็นว่าการสร้างแนวป้องกันยังมีโอกาสที่จะเกิดการพังทลายอย่างต่อเนื่อง ซึ่งต้องมีการวางแนวการสร้างให้มาตรฐานมากกว่าที่ได้ทำมาแล้ว ไม่เช่นนั้นจะเสียงบประมาณไปโดยไม่มีประโยชน์ อย่างไรก็ตาม อยากให้ทางส่วนกลางได้เร่งดำเนินการป้องกันจุดที่มีประชาชนอาศัยอยู่หนาแน่น รวมแล้วกว่า 40 หลังคาเรือน เนื่องจากเกรงว่าหากเกิดวิกฤตน้ำท่วมอีกจะทำให้พังทลายอย่างต่อเนื่องต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น