xs
xsm
sm
md
lg

“ฉี่หนู” ระบาดบุรีรัมย์พบผู้ป่วยแล้ว 70 ราย-ชาวนาแชมป์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โรคฉี่หนู ระบาด จ.บุรีรัมย์ พบผู้ป่วยแล้ว 70 ราย ส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรที่ต้องลุยน้ำทำนาหรือลงแช่น้ำเป็นเวลานาน วันนี้ ( 24 มิ.ย.)
บุรีรัมย์ - สสจ.บุรีรัมย์เตือนเกษตรกรระวัง “โรคฉี่หนู” หรือ “โรคเลปโตสไปโรซีส” หลังพบระบาดในหลายอำเภอ ล่าสุดพบผู้ป่วยแล้ว 70 ราย ยังไม่พบผู้เสียชีวิต ส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรที่ลงแช่น้ำเป็นเวลานานไม่สวมใส่อุปกรณ์ป้องกัน พร้อมเตือนก่อนลงลุยน้ำทำนา หรือแช่น้ำเป็นเวลานาน ควรสวมรองเท้าบูตหรือเครื่องป้องกันอย่างมิดชิด

วันนี้ (24 มิ.ย.) นพ.สมพงษ์ จรุงจิตตานุสนธิ์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) บุรีรัมย์ เปิดเผยถึงสถานการณ์การระบาดของโรคฉี่หนู หรือโรคเลปโตสไปโรซิส ในพื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์ว่า ตั้งแต่เดือนมกราคม 2555 ที่ผ่านมาจนถึงขณะนี้พบผู้ป่วยด้วยโรคฉี่หนู หรือโรคเลปโตสไปโรซิสแล้วจำนวนทั้งสิ้น 70 ราย เป็นชาย 60 ราย และหญิงอีก 10 ราย

โดยในจำนวนนี้ยังไม่มีรายงานผู้ป่วยเสียชีวิต กลุ่มอายุผู้ป่วยที่พบมากที่สุดคือ 65 ปีขึ้นไป รองลงมาคือกลุ่มอายุระหว่าง 35-44 ปี ส่วนกลุ่มอาชีพที่พบมีผู้ป่วยมากที่สุด คือเกษตรกร จำนวน 44 ราย รองลงมาคืออาชีพรับจ้าง และอาชีพอื่นๆ รองลงมาตามลำดับ

แต่เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา พบว่าปีที่ผ่านมาในพื้นที่ จ.บุรีรัมย์มีผู้ป่วยจำนวน 56 ราย และในจำนวนนี้มีผู้เสียชีวิตด้วย 1 ราย

สำหรับพื้นที่ที่พบมีการแพร่ระบาดมากที่สุดคือ อ.โนนสุวรรณ รองลงมาคือ อ.แคนดง, อ.นาโพธิ์, อ.ละหานทราย และอำเภออื่นๆ รองลงมาตามลำดับ อีกทั้งยังพบว่าในช่วงนี้ยังมีแนวโน้มการแพร่ระบาดของผู้ป่วยเพิ่มสูงขึ้น เพราะช่วงนี้เริ่มเข้าสู่ฤดูฝน ประกอบกับเป็นช่วงที่เกษตรกรลงไถหว่านปักดำข้าว ซึ่งเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่าย

จึงแจ้งเตือนเกษตรกรที่ต้องลงแช่น้ำเป็นเวลานาน หากมีอาการไข้สูง ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อน่อง ตาแดง ให้รีบไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจรักษาโดยเร็ว หากล่าช้าอาจมีอาการรุนแรงถึงขั้นไตวายเสียชีวิตได้

ส่วนวิธีป้องกันเบื้องต้นเกษตรกรควรสวมใส่รองเท้าบูต หรือเครื่องป้องกันเมื่อลงแช่น้ำ หลังเสร็จภารกิจหรือขึ้นจากน้ำให้รีบล้างมือ ล้างเท้าด้วยสบู่ให้สะอาดเพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อโรคเข้าสู่ร่างกาย โดยเฉพาะผู้ที่มีบาดแผล รอยขีดข่วนตามร่างกาย เนื่องจากโรคเลปโตสไปโรซิส เกิดจากการสัมผัสปัสสาวะของสัตว์โดยตรง หรือติดโดยทางอ้อมจากแหล่งน้ำตามทุ่งนา และบริเวณที่มีน้ำขัง โดยเฉพาะในพื้นที่ที่เคยมีการระบาดของโรคต้องมีการเฝ้าระวังป้องกันเป็นพิเศษ


นพ.สมพงษ์ จรุงจิตตานุสนธิ์  สสจ. บุรีรัมย์
กำลังโหลดความคิดเห็น