อุบลราชธานี - นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดอุบลราชธานีเตือนประชาชนระวังโรคไข้เลือดออก เพราะพบการระบาดสูงสุดที่ศรีสะเกษ รองลงมาเป็นมุกดาหาร นครพนม และอุบลราชธานี แนะทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย รวมทั้งทำตัวให้อบอุ่นรับสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย ส่วนเกษตรกรปลูกข้าวระวังโรคเลปโตสไปโรซีสระหว่างดำนา
วันนี้ (24 มิ.ย.) นายแพทย์สุรพร ลอยหา นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดอุบลราชธานี กล่าวถึงสถานการณ์โรคไข้เลือดออกในประเทศไทยว่า จากสถิติข้อมูลของสำนักระบาดวิทยาระบุว่า ตั้งแต่ต้นปีจนถึงเมษายนที่ผ่านมาพบมีการระบาดของโรคเร็วผิดปกติของจังหวัดที่อยู่ในเขตภาคใต้ชายฝั่งทะเลอันดามัน และจังหวัดในเขตชายฝั่งทะเลด้านอ่าวไทย ประกอบกับประเทศกัมพูชาพบมีการระบาดของโรคไข้เลือดออกเร็วผิดปกติเช่นกัน (Promed mail)
สำหรับจากสถานการณ์ระดับประเทศตั้งแต่เดือนมกราคม-9 มิถุนายน พบว่ามีผู้ป่วยแล้ว 14,045 ราย อัตราป่วย 21.99 ต่อประชากรแสนคน เสียชีวิต 9 ราย อัตราป่วยตายร้อยละ 0.06 โดยพบผู้ป่วยสูงสุดเดือนพฤษภาคม 4,270 ราย รองลงมาคือเดือนเมษายน 3,025 ราย และมีนาคม 2,299 ราย
ซึ่งจำนวนผู้ป่วยลดลงจากปีที่แล้วคิดเป็นร้อยละ 25.53 (สถิติในช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ป่วย 18,861 ราย เสียชีวิต 16 ราย) เมื่อจำแนกรายภาคพบว่า ภาคใต้มีผู้ป่วย 3,516 ราย อัตราป่วยสูงสุด 37.26 ต่อประชากรแสนคน รองลงมาภาคกลางผู้ป่วย 6,221 ราย อัตราป่วย 29.51 ต่อประชากรแสนคน ภาคเหนือผู้ป่วย 1,662 ราย อัตราป่วย 14.10 ต่อประชากรแสนคน และภาคอีสานผู้ป่วย 2,646 ราย อัตราป่วย 12.27 ต่อประชากรแสนคน
ส่วนพื้นที่ที่พบการระบาดสูงสุดคือ จ.ศรีสะเกษ อัตราป่วยสูงสุด 20.18 ต่อประชากรแสนคน รองลงมา จ.มุกดาหาร อัตราป่วย 9.98 ต่อประชากรแสนคน และ จ.นครพนม อัตราป่วย 6.95 ต่อประชากรแสนคน โดยจังหวัดนครพนม และมุกดาหารมีอัตราป่วยสูงกว่าปีที่ผ่านมา รวมถึงในสัปดาห์เดียวกันนี้ จังหวัดศรีสะเกษพบผู้ป่วยสูงสุดถึง 70 ราย
รองลงมาคือ อุบลราชธานี 14 ราย และมุกดาหาร 13 ราย กลุ่มอายุผู้ป่วยสูงสุดคือ อายุ 10-14 ปี อัตราป่วย 34.33 ต่อประชากรแสนคน รองลงมาอายุ 5-9 ปี อัตราป่วย 26.51 ต่อประชากรแสนคน และอายุ 15-24 ปี อัตราป่วย 15.86 ต่อประชากรแสนคน
ส่วนใหญ่ผู้ป่วยเป็นนักเรียนสูงถึง 391 ราย รองลงมาเป็นเกษตรกร 84 ราย นายแพทย์สุรพร ลอยหา กล่าวถึงวิธีดูแลป้องกัน ต้องสวมเสื้อผ้าหนาๆ เพื่อป้องกันยุงกัดและเป็นการรักษาร่างกายให้อบอุ่นให้ร่างกายมีภูมิต้านทานโรค โดยเฉพาะเด็กกับผู้สูงอายุควรดูแลเป็นพิเศษเนื่องจากสภาพอากาศมีความชื้นสูง หนาวเย็น ทำให้ร่างกายมีระดับภูมิต้านทานโรคต่ำกว่าคนวัยอื่นๆ
หากในช่วงที่มีน้ำท่วมขัง และส้วมใช้การไม่ได้ห้ามถ่ายอุจจาระลงน้ำ ให้ถ่ายอุจจาระลงในถุงพลาสติกแล้วปิดปากถุงให้แน่น ต้องตรวจดูโอ่งน้ำหรือภาชนะเก็บน้ำอื่นให้มีฝาปิดมิดชิดและเปลี่ยนน้ำจานรองขาตู้ แจกันดอกไม้ประดับทุก 7 วัน ปล่อยปลาหางนกยูงลงในอ่างใช้ปลูกต้นไม้ ทำลายแหล่งที่มีน้ำขัง เช่น กะลา กระป๋อง ยางรถยนต์เก่า เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย
ขณะเดียวกัน ช่วงนี้เป็นฤดูทำนาปลูกข้าว หลังเกษตรกรเดินย่ำน้ำ ลุยน้ำแช่ขัง หรือน้ำสกปรก ต้องล้างเท้าให้สะอาดทุกครั้งแล้วเช็ดให้แห้งด้วยผ้าที่สะอาด อย่าปล่อยให้เท้าอับชื้นเป็นเวลานานหรือใส่รองเท้าบูตหลีกเลี่ยงการสัมผัสพื้นที่ชื้นแฉะที่มีการเลี้ยงสัตว์และสัมผัสปัสสาวะสัตว์ เพื่อป้องกันโรคเลปโตสไปโรซีสด้วย