ประจวบคีรีขันธ์ - กองบังคับการตำรวจทางหลวง จัดทำโครงการคืนชุมชนสีขาว ภายใต้หลักการตำรวจผู้รับใช้ชุมชน 40 แห่งทั่วประเทศ ส่วนประจวบฯ คัดเลือกชุมชนบ้านท่าข้าม อ.กุยบุรี เปิดที่ทำการตำรวจผู้รับใช้ชุมชน (CPO) ชาวบ้านในพื้นที่ขานรับโครงการฯ มั่นใจทำให้ประชาชนอบอุ่นได้ใกล้ชิด และสามารถรับปัญหานำไปสู่การแก้ไขให้ชาวบ้านในชุมชน
วันนี้ (21 มิ.ย.) พล.ต.ต.สรรพวุฒิ พิพัฒพพันธ์ รองผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง พ.ต.อ.อภิชัย ดุษฎีพฤฒิพันธุ์ ผกก.2 บก.ทล. พ.ต.ท.เด่นหล้า รัตนกิจ สารวัตรสถานีตำรวจทางหลวงประจวบคีรีขันธ์ พร้อมด้วย ตำรวจทางหลวง ตำรวจท่องเที่ยว ตำรวจภูธร หน่วยงานราชการ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เทศบาล อบต.ประชาชน ร่วมกันเปิดที่ทำการตำรวจผู้รับใช้ชุมชน ณ บ้านท่าข้าม ม.8 อ.กุยบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ ตามโครงการคืนชุมชนสีขาว โดยตำรวจทางหลวง
พล.ต.ต.สรรพวุฒิ กล่าวว่า ด้วยสภาพสังคมไทยในปัจจุบัน มีปัญหาด้านต่างๆ ทั้งปัญหาอาชญากรรม ปัญหาที่บั่นทอนความมั่นคง และปัญหายาเสพติด การกระทำผิดกฎหมายทุกประเภทเพิ่มมากขึ้น ทวีความรุนแรง และขยายวงกว้างจนกลายเป็นปัญหาต่างๆ ในสังคมถือเป็นเรื่องเร่งด่วนที่จำเป็นต้องแก้ไขทันที ซึ่งวิธีการแก้ปัญหาแบบเก่า ยังวงเวียนอยู่ในมิติเดิมๆ และแก้ปัญหาไม่ได้ พล.ต.ท.พงศ์พัฒน์ ฉายาพันธุ์ ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง จึงได้เสนอวิธีการใหม่โดยใช้ทฤษฎี “ตำรวจผู้รับใช้ชุมชน” หรือCOMMUNITY POLICING มาใช้ในการแก้ปัญหา และได้ผลักดันจนเป็นยุทธศาสตร์หนึ่งในแผนยุทธศาสตร์ 10 ปีของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
กองบังคับการตำรวจทางหลวง จึงได้จัดทำโครงการดังกล่าวขึ้นมา โดยคัดเลือกพื้นที่ 40 จังหวัดในทั่วประเทศ เพื่อนำมาซึ่งโครงสร้างของชุมชน ที่ประชาชนในชุมชนร่วมมือป้องกัน แก้ไขปัญหาอาชญากรรม ปัญหายาเสพติด ปัญหาเด็กและสตรีที่ตกเป็นเหยื่อของการล่วงละเมิดทางเพศ และการทารุณกรรม ความรู้สึกหวาดกลัวภัยอาชญากรรม ความไร้ระเบียบ และความเสื่อมโทรมทางสังคม
พล.ต.ต.สรรพวุฒิ กล่าวอีกว่า เป้าหมายหลักลดความหวาดระแวงภัยอาชญากรรมและลดปัญหายาเสพติดให้สังคม ตำรวจผู้รับใช้ชุมชนวิธีการสมัยใหม่ ต่างจากตำรวจมวลชนสัมพันธ์ หลักสำคัญคือ เป็นการแสวงหาความร่วมมือของชุมชน ชุมชนจะต้องเป็นผู้คิดและแก้ไขปัญหาด้วยตนเอง เป็นวิธีการสนับสนุนการปกครองในระบอบประชาชาธิปไตย คือประชาชน เพื่อประชาชน และโดยประชาชน
ส่วนหน้าที่ของตำรวจผู้รับใช้ชุมชนจะเป็นที่ปรึกษา เป็นผู้ให้คำแนะนำคือเป็นผู้ประสานงานให้เท่านั้นเอง เราจะพยามปลดปล่อยพลังของชุมชนให้มากที่สุดเพื่อให้ชุมชนเกิดความเข้มแข็ง และเป็นการเสริมสร้างพลังของชุมชน เพื่อเป็นการป้องกันปัญหาต่างๆ อย่างเป็นถาวร
ด้าน พ.ต.ท.เด่นหล้า รัตนกิจ สารวัตรสถานีตำรวจทางหลวงประจวบฯ กล่าวว่า ในส่วนของจังหวัดประจวบฯ จึงมีการคัดเลือกชุมชนบ้านท่าข้าม ถือเป็นชุมชนที่มีความสำคัญ มีความพร้อม และเหมาะสม เป็นชุมชนต้นแบบในการดำเนินโครงการ “คืนชุมชนสีขาวให้สังคม” โดยตำรวจทางหลวง ภายใต้หลักการตำรวจผู้รับใช้ชุมชน
สำหรับที่ทำการตำรวจผู้รับใช้ชุมชน (CPO) ที่บ้านท่าข้ามแห่งนี้ได้คัดเลือก ร.ต.ต.ตระกูล ธรรมเพชร และ ด.ต.ประจวบ จันทรโชติ ตำรวจทางหลวงประจวบฯ เข้ามาทำหน้าที่ในชุมชนบ้านท่าข้าม ทั้งเป็นที่ปรึกษา ผู้ประสานงาน และให้คำแนะนำ ในเรื่องต่างๆ สำหรับพี่น้องประชาชนในหมู่บ้านท่าข้าม ซึ่งปัจจุบัน มีประชาชนอยู่จำนวน 641 คน 197 ครอบครัว ครอบคลุมพื้นที่ 602 ไร่ หรือ 0.946 ตารางกิโลเมตร
พ.ต.ท.เด่นหล้า กล่าวต่อว่า สำหรับตำรวจทางหลวงทั้ง 2 นายจะมาอยู่ประจำ 24 ชม.เน้นการรับใช้ชุมชนเป็นหลัก พูดง่ายๆ ก็คือ ต้องออกพบปะชาวบ้านในชุมชน โดยใช้จักรยาน 2 คัน ซึ่งจะสะดวกสบาย ประหยัด เป็นกันเองกับชาวบ้าน สิ่งสำคัญ คือ ชาวบ้านในชุมชนอยากให้แก้ปัญหาอะไรบ้างในชุมชนของตนเอง ตั้งแต่เรื่องเล็กๆ ไปจนถึงปัญหาใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นน้ำประปาไม่ไหล ไฟฟ้าดับ ตู้โทรศัพท์เสีย ปัญหายาเสพติด ปัญหาสังคม สิ่งเหล่านี้เมื่อตำรวจทั้ง 2 นายได้ข้อมูลมาก็จะนำกลับมารวบรวมสภาพปัญหา
“ปัญหาเรื่องเล็กๆ หากติดต่อประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ก็สามารถดำเนินการได้ทันที ส่วนปัญหาใหญ่ๆ ก็จะส่งเรื่องเข้ามายังสถานีตำรวจทางหลวงประจวบฯ และส่งต่อไปยังกองบังคับการตำรวจทางหลวง เพื่อส่งต่อให้หน่วยงานระดับกระทรวงให้ลงมาดำเนินการแก้ไขปัญหาให้ชาวบ้าน เช่น ชาวบ้านอาจแจ้งเบาะแสเรื่องการค้ายาเสพติด เรื่องนี้เราก็จะให้ตำรวจในส่วนกลางเข้ามาดำเนินการในพื้นที่ เรียกว่าตำรวจทั้ง 2 นายที่อยู่ในชุมชนต้องใกล้ชิดกับชาวบ้านให้มากที่สุด ทำตัวเป็นกันเองกับชาวบ้านเสมือนญาติพี่น้อง ที่ผ่านมา ชาวบ้านกับตำรวจมักอยู่ห่างกันมาตลอดเวลา และเกิดความระแวงเวลาเจอกับตำรวจ โครงการนี้จะช่วยลดปัญหาในสังคมได้อย่างมากในหลายๆ ด้าน ทั้งปัญหาอาชญากรรม ยาเสพติด ปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศ ทำให้ชาวบ้านรู้สึกมีความอบอุ่นจุดนี้ก็เป็นส่วนสำคัญ”
นายสายชล บุญเกิด ชาวบ้านท่าข้าม ยอมรับว่า เป็นโครงการที่ดีมาก แต่ตำรวจที่เข้ามาต้องดีจริงที่เข้ามาอยู่ในหมู่บ้าน เพื่อจะได้ช่วยกันทำให้หมู่บ้านสงบสุข
“ผมมองว่าชาวบ้านทุกคนคนพร้อมจะให้ข้อมูลตำรวจทางหลวงที่เข้ามาอยู่ ที่ผ่านมาในหมู่บ้านมีปัญหายาเสพติดเข้ามา จึงเกิดปัญหาลักขโมยตามมา ดังนั้น ตำรวจที่เข้ามาอยู่ก็ต้องรับปัญหาดังกล่าวไปแก้ไขให้ได้”