xs
xsm
sm
md
lg

พบเด็กป่วยโรคมือ เท้า ปาก ที่ จ.สระแก้วแล้ว 55 ราย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวศรีราชา - พบเด็กเล็กในจังหวัดสระแก้ว ป่วยด้วยโรคมือ เท้า ปาก แล้วถึง 55 ราย ขณะที่หน่วยงานด้านสาธารณสุขในพื้นที่เร่งให้ข้อมูลผู้ปกครอง ผู้ดูแลศูนย์เด็กเล็ก และโรงเรียนประถม เพื่อเฝ้าระวังป้องกัน และดูแลเด็กป่วยอย่างถูกวิธี

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในขณะนี้พื้นที่จังหวัดสระแก้วพบเด็กเล็ก-วัยเรียน ป่วยเป็นโรคมือ เท้า ปาก ในศูนย์เด็กเล็ก และโรงเรียนประถมศึกษาแล้วจำนวน 55 ราย และยังมีแนวโน้มการพบเด็กติดโรคดังกล่าวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสระแก้ว ได้ออกมาเปิดเผยเรื่องราวดังกล่าวว่า จากข้อมูลเฝ้าระวังทางระบาดวิทยาตั้งแต่ต้นปี 2555 จนถึงวันที่ 3 มิถุนายนที่ผ่านมา พบว่า จังหวัดสระแก้วมีผู้ป่วยโรค มือ เท้า ปาก เกิดขึ้นในเด็กแล้วจำนวน 55 ราย หรือคิดเป็นอัตราป่วย 10.11 ต่อแสนประชากร และยังไม่มีผู้เสียชีวิต ซึ่งโรคดังกล่าวส่วนใหญ่พบในเด็กเล็กอายุ 0-4 ปี รองลงมาคือ กลุ่มอายุ 5-9 ปี และกลุ่มอายุ 10-14 ปี โดยเฉพาะในศูนย์เด็กเล็ก และโรงเรียนประถมศึกษา

ทั้งนี้ มีการพบผู้ป่วยจำนวนมากอยู่ในอำเภออรัญประเทศ อำเภอเมืองสระแก้ว และอำเภอคลองหาด และจากข้อมูลยังพบว่า มีจำนวนผู้ป่วยมากในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงกรกฎาคมของทุกปี ซึ่งในปี 2555 พบผู้ป่วยสูงขึ้นตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ถึงมีนาคม และยังพบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอีกในเดือนพฤษภาคม สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีแนวโน้มที่จะสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

โรคมือ เท้า ปาก เกิดจากเชื้อไวรัส กลุ่มที่อยู่ในลำไส้คน (Enterovirus) ส่วนใหญ่พบในเด็กทารก และเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี เนื่องจากยังไม่มีภูมิต้านทาน จึงมีความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยที่รุนแรงมากกว่าเด็กโต โดยจะมีอาการไข้ร่วมกับตุ่มพองเล็กๆ เกิดขึ้นที่ผิวหนังบริเวณนิ้วมือ นิ้วเท้า และในปาก ส่วนใหญ่อาการไม่รุนแรง หายได้เอง ส่วนน้อยมีอาการทางสมองร่วมด้วย ซึ่งอาจทำให้รุนแรงถึงเสียชีวิตได้ และมักจะระบาดในช่วงหน้าฝน

สำหรับเชื้อไวรัสจะเข้าสู่ร่างกายทางปากโดยตรง โดยเชื้อจะติดมากับมือ ภาชนะที่ใช้ร่วมกัน เช่น ช้อน แก้วน้ำ หรือของเล่น ที่ปนเปื้อนน้ำมูก น้ำลาย น้ำจากตุ่มพอง แผลในปาก หรืออุจจาระของผู้ป่วยที่มีเชื้อไวรัสอยู่ และเชื้ออาจอยู่ในอุจจาระของผู้ป่วยได้เป็นเดือน (พบมากในระยะสัปดาห์แรก) ทำให้ผู้ป่วยยังคงสามารถแพร่กระจายเชื้อได้

โดยทั่วไป เด็กจะเริ่มมีอาการป่วยภายใน 3-5 วันหลังได้รับเชื้อ สำหรับการรักษาจะใช้การรักษาแบบประคับประคองเพื่อบรรเทาอาการต่างๆ เช่น การใช้ยาลดไข้ หรือยาทาแก้ปวดในรายที่มีแผลที่ลิ้น หรือกระพุ้งแก้ม ควรเช็ดตัวผู้ป่วยเพื่อลดไข้เป็นระยะ ให้รับประทานอาหารอ่อนๆ ดื่มน้ำ น้ำผลไม้ และนอนพักผ่อนมากๆ แต่ในกรณีผู้ป่วยมีอาการแทรกซ้อนรุนแรง ต้องรีบไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาล เพราะอาจมีอาการอื่นแทรกซ้อนเป็นอันตรายได้

ขณะที่ นพ.ปัญญา สัตยาภักดีชัย ผู้อำนวยการโรงพยาบาลอรัญประเทศ กล่าวว่า สำหรับเจ้าหน้าที่ของศูนย์เด็กเล็ก และโรงเรียนเมื่อพบเด็กป่วยโรคมือ เท้า ปาก ต้องให้หยุดเรียน 1 สัปดาห์ และควรเร่งดูแลรักษาสุขลักษณะของสถานที่ ทำความสะอาดอุปกรณ์เครื่องใช้ ดูแลสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อม และให้มีการทำลายเชื้อในอุจจาระ และการกำจัดสิ่งปฏิกูลอย่างถูกต้อง

ส่วนการป้องกันโรค ไม่ควรนำเด็กเล็กไปในที่ชุมชนสาธารณะที่มีคนอยู่เป็นจำนวนมาก เช่น ห้างสรรพสินค้า ตลาด สระว่ายน้ำ และควรให้เด็กยู่ในที่ที่มีการระบายได้ดี หลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วย และระมัดระวังการไอจามรดกัน ล้างมือให้สะอาดก่อน และหลังเตรียมอาหาร รับประทานอาหาร และภายหลังการขับถ่าย ใช้ช้อนกลาง และหลีกเลี่ยงการใช้แก้วน้ำ หรือหลอดดูดน้ำร่วมกัน

กำลังโหลดความคิดเห็น