xs
xsm
sm
md
lg

ครบรอบ 50 ปีเสีย “พระวิหาร” ให้เขมร-วอนยึดสันปันน้ำเร่งปักเขตแดน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายวีระยุทธ  ดวงแก้ว  กำนัน ต.เสาธงชัย
ศรีสะเกษ - ครบรอบ 50 ปีศาลโลกพิพากษาให้ตัว “ปราสาทพระวิหาร” เป็นของเขมร ชาวบ้าน “ภูมิซรอล” อ.กันทรลักษ์ วอนเร่งปักปันเขตแดน โดยยึดเอาหน้าผาสูงชันตามธรรมชาติ หรือสันปันน้ำตามหลักสากลเป็นเส้นแบ่งเขตแดน ลั่นพื้นที่ 4.6 ตร.กม.เป็นของไทย ไม่ใช่ “พื้นที่ทับซ้อน” ชี้ประชาชนชาวศรีสะเกษทำกินมาโดยตลอด

วันนี้ (15 มิ.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่บริเวณผามออีแดง อุทยานแห่งชาติเขาพระวิหาร ต.เสาธงชัย อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ ใกล้กับปราสาทพระวิหาร ชายแดนไทย-กัมพูชา ซึ่งสามารถใช้กล้องส่องทางไกลที่ทหารของไทยจัดไว้เพื่อให้บริการนักท่องเที่ยวส่องดูความสวยงามของปราสาทพระวิหาร และดูความเคลื่อนไหวของทางฝ่ายกัมพูชาบริเวณรอบเขาพระวิหาร ปรากฏว่าบรรยากาศในวันนี้ (15 มิ.ย.) ซึ่งเป็นวันครบรอบ 50 ปีที่ศาลโลกพิพากษาให้ตัวปราสาทพระวิหารเป็นของกัมพูชาในปี 2505 ยังอยู่ในสภาวะปกติไม่มีการเคลื่อนไหวกำลังทหาร ขณะที่ทหารไทยเฝ้าดูความเคลื่อนไหวรอบบริเวณปราสาทพระวิหาร และตามแนวชายแดนไทยอย่างต่อเนื่อง

นายวีระยุทธ ดวงแก้ว กำนัน ต.เสาธงชัย อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ กล่าวว่า ขณะนี้ชาวบ้านภูมิซรอล ต.เสาธงชัย อ.กันทรลักษ์ ซึ่งเป็นหมู่บ้านอยู่ติดเขาพระวิหารที่ตั้งปราสาทพระวิหารมากที่สุด ยังคงทำมาหากินกันตามปกติ แต่ยังคงมีความหวั่นเกรงว่าอาจเกิดสงครามการสู้รบระหว่างทหารไทยกับทหารกัมพูชาที่บริเวณเขาพระวิหารขึ้นได้ตลอดเวลา เนื่องจากบริเวณเขาพระวิหารยังไม่มีการปักปันเขตแดนที่ชัดเจน ซึ่งตนเห็นว่าอยากจะให้มีการแก้ไขปัญหาเจรจาเรื่องการปักปันเขตแดนให้ชัดเจน โดยการยึดเอาสภาพทางธรรมชาติเป็นเขตแบ่งปันเขตแดน เพราะคนท้องถิ่นจะทราบเรื่องนี้ดีที่สุด ขอให้ลงมาแก้ไขตรงนี้ และต้องยึดเอาหน้าผาสูงชันและสันปันน้ำที่หน้าผาเขาพระวิหารเป็นเส้นแบ่งเขตแดนไทย-กัมพูชา ตามหลักสากลที่ทั่วโลกปฏิบัติกัน

ส่วนการบริหารพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตร (ตร.กม.) รอบปราสาทพระวิหารนั้นควรยกเลิกเพราะมันล้ำเขตแดนเข้ามาในเขตแดนไทยมากเกินไป ซึ่งคำว่า 4.6 ตร.กม. นั้นประเทศกัมพูชาไม่ได้เสียอะไรเลย มีแต่ฝั่งประเทศไทยที่สูญเสีย พูดง่ายๆ คือ มันไปทับเขตพื้นที่ของประชาชนไทยที่ใช้ทำกินทั้งหมด และคำว่า “พื้นที่ทับซ้อน” มีแต่พูดกันไปเอง แต่ตนไม่เคยพูดเรื่องทับซ้อนเลย เพราะเราต้องยืนกรานคำว่า “พื้นที่ทับซ้อน” ไม่มี มีแต่แผ่นดินไทย เพราะประเทศกัมพูชาเพิ่งรู้ว่ามีพื้นที่ตรงนี้เพียงไม่กี่ปีที่ผ่านมา คือเมื่อปี 2530 เท่านั้นเอง ไม่ใช่ว่าเขารู้มานานแล้ว แต่เขาเพิ่งรู้ ทั้งนี้ พี่น้องประชาชนชาวศรีสะเกษรวมทั้งตนไม่ทราบว่าแผนที่เป็นอย่างไร รู้แต่ว่าพื้นที่ตรงนี้พี่น้องประชาชนทำไร่ ทำนา มาโดยตลอด เพียงแต่มีเหตุการณ์ทางชายแดนไม่ปกติเท่านั้นที่ทำให้ชาวบ้านได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก
กำลังโหลดความคิดเห็น