ระยอง - เครือข่ายประชาชนภาคตะวันออกประสานนายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ฟ้องศาลปกครองระยอง พร้อมชุมนุมเคลื่อนไหว
วันนี้ (3 มิ.ย.) ที่ห้องสินสมุทร 1 โรงแรมสตาร์ อ.เมืองระยอง นายสุทธิ อัชฌาศัย ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก และนายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน จัดประชุมการขับเคลื่อนมาตรการความปลอดภัยของชุมชน โดยมีสมาชิกเครือข่ายประชาชนภาคตะวันออกจำนวน 100 คน ร่วมประชุม และแสดงความคิดเห็น
นายสุทธิ กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้เพื่อเตรียมเคลื่อนไหวผลักดันให้รัฐบาลมีความจริงใจในการแก้ปัญหาเรื่องผังเมืองรวม หลังจากเครือข่ายฯ ได้ยื่นหนังสือมานานกว่า 5 เดือน ก็ยังไม่มีการประกาศใช้ ในขณะที่สถานการณ์มีการเดินหน้าการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง
เพราะฉะนั้น วันนี้จะมีการประชุมผลักดันให้รัฐบาลประกาศผังเมืองรวมจังหวัดระยองโดยทันที และกรณีบริษัท บีเอสที อิลาสโตเมอร์ส จำกัด นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด อ.เมืองระยอง เกิดระเบิด และบริษัท อดิตยาเบอร์ล่า เคมีคัลส์ (ประเทศไทย) จำกัด ก๊าซคลอรีนรั่วไหลซ้ำซาก มาตรการในการควบคุมดูแลโรงงานอุตสาหกรรมยังไม่มีความปลอดภัย มาตรการในการจัดการยังไม่ดีพอ และที่สำคัญและเป็นปัญหา คือ กรมควบคุมมลพิษออกมาพูดว่าโรงงานระเบิดไม่มีสารตกค้าง แต่ในความเป็นจริง ประชาชนในพื้นที่ยังหวาดวิตกสารพิษจากสารโทลูอีน
นายสุทธิ กล่าวว่า ที่ผ่านมา เครือข่ายฯได้ยื่นข้อเสนอรัฐบาลรวม 9 ข้อคือ 1.ให้รัฐบาลเปิดเผยข้อมูลเหตุระเบิด 2.ให้นำแผนป้องกัน และบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ พ.ศ.2553 มาใช้ 3.ให้ฟื้นฟูคุณภาพสิ่งแวดล้อม 4.ให้จัดทำระบบการเยียวยาให้แก่ประชาชนอย่างจริงจัง 5.ให้มีการทบทวนการลงทุนด้านอุตสาหกรรมที่ไม่สะอาด
6.ให้ดำเนินคดีหน่วยงานที่ละเว้น หรือละเลยการปฏิบัติหน้าที่ 7.ให้จัดทำแนวป้องกันทุกนิคมอุตสาหกรรม 8.ให้จัดทำบัญชีการระบายมลพิษ และบัญชีการครอบครองสารพิษวัตถุอันตราย และ 9.ให้เปิดเผยรายชื่อคณะกรรมการไตรภาคีที่จะเข้าตรวจสอบโรงงานต่อสาธารณชน การตอบสนองในเชิงปฏิบัติยังไม่เกิดขึ้น ดังนั้น ทางเครือข่ายฯ จะประสานสมาชิกเครือข่ายใน 8 จังหวัด เครือข่ายภาคใต้ และในอีกหลายจังหวัดที่กำลังจะเผชิญชะตากรรมเช่นเดียวกับมาบตาพุด ร่วมกันผลักดันเรียกร้อง และจะมีการชุมนุมเคลื่อนไหวช่วงที่จะมีการประชุม ครม.สัญจร ที่พัทยา จ.ชลบุรี ในวันที่ 18-19 มิถุนายนนี้
ด้านสมาชิกเครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก ได้หยิบยกปัญหากรณีการถมคลอง และทางเกวียนสาธารณะรวมหลายร้อยไร่ในเขตประกอบการไออาร์พีซี จำกัด ครอบคลุม ต.ตะพง ต.เชิงเนิน และ ต.บ้านแลง อ.เมืองระยอง เรื่องนี้ชาวบ้าน ต.บ้านแลงร่วมกันคัดค้านอย่างเต็มที่ ส่วนชุมชนมาบข่าสำนักอ้ายงอน เทศบาลเมืองมาบตาพุด เรียกร้องให้ดำเนินการเพิกถอนการอนุญาตการก่อสร้างโรงงานเจนเนอรัลไนซ์โคล แอนด์ โค้ก ผลิตถ่านหินโค้ก ขณะที่ผู้ว่าราชการ จ.ระยอง มีคำสั่งระงับการก่อสร้าง แต่ก็ยังมีการก่อสร้างอย่างไม่เกรงกลัวกฎหมาย
ด้านนายน้อย ใจตั้ง ชาวมาบตาพุดเรียกร้องให้เครือข่ายฯ ดำเนินการกรณีเหตุระเบิดในบริษัท บีเอสทีอิลาสโตเมอร์ส จำกัด นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด และก๊าซคลอรีนรั่วไหลในบริษัท อดิตยาเบอร์ล่า เคมีคัลส์ (ประเทศไทย) จำกัด นิคมอุตสาหกรรมเหมราชตะวันออก สำหรับชาวบ้าน ต.สำนักทอง อ.เมืองระยอง ได้หยิบยกปัญหาเรื่องการคัดค้านตั้งนิคมอุตสาหกรรมหลักชัยเมืองยาง
หลังสมาชิกเครือข่ายฯ แสดงความคิดเห็นได้สรุปเห็นควรมอบอำนาจให้นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนฟ้องศาลปกครองระยอง พร้อมเตรียมร่างคำฟ้องให้เสร็จโดยเร็วเพื่อดำเนินการฟ้อง 1.เจ้าหน้าที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กรณีปล่อยให้บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) ถมคลอง และทางเกวียน ซึ่งเป็นที่สาธารณะ 2.เพิกถอนใบอนุญาตการก่อสร้างโรงงาน เจนเนอรัลไนซ์โคล แอนด์ โค้ก
3.ฟ้องนายกเทศมนตรีเมืองมาบตาพุด ผอ.สำนักงานการนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ผอ.นิคมอุตสาหกรรมเหมราชตะวันออก ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กรณีโรงงานระเบิด และก๊าซคลอรีนรั่วไหล
4.รัฐบาลไม่ประกาศผังเมืองรวมระยองเป็นเหตุให้มีการก่อสร้างโรงงานอุตสาหกรรมเพิ่มมากขึ้น อาจส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน และ 5.เพิกถอนการประกาศตั้งนิคมอุตสาหกรรมหลักชัยเมืองยาง